จ่อชง ศบค.ปรับโซนสี -มาตรการรับสงกรานต์และหลักเกณฑ์การเข้าประเทศ

17 มี.ค. 2565 | 06:12 น.

ศปก.ศบค. เตรียมเสนอ ศบค.ปรับโซนสี -มาตรการรับสงกรานต์ และ ปรับหลักเกณฑ์การเข้าประเทศ ส่วนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็น จะยกเลิกเมื่อประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

 พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 18 มี.ค.ว่า จะเสนอมาตรการเพื่อผ่อนคลายหลายเรื่อง โดยแต่ละข้อเสนอต้องได้รับความเห็นชอบจากศบค.

 

ทั้งนี้ จะเสนอปรับพื้นที่สถานการณ์ในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่สีเหลือง เป็นสีส้ม หรือจากสีส้มเป็นสีเหลือง ในบางพื้นที่เห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แต่ถ้าประเมินดูรายพื้นที่ จะเห็นว่าบางพื้นที่ตัวเลขติดเชื้อทรงตัว หรือมีจำนวนลดลง และขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ที่หายป่วย มีจำนวนใกล้เคียงกันต่อเนื่อง จึงจะปรับลดบางพื้นที่ให้ผ่อนคลายมากขึ้น

 

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

นอกจากนี้ จะพิจารณามาตรการการจัดงานสงกรานต์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำข้อมูลเตรียมเสนอไว้แล้ว และจะนำมาหารือในที่ประชุมศปก.ศบค. ก่อนเสนอศบค.ชุดใหญ่ โดยจะเสนอให้จัดกิจกรรมได้ภายใต้มาตรการป้องกัน มี 3 หน่วยงานหลัก รับผิดชอบคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะนำข้อมูลมาชี้แจง
 

เบื้องต้นจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ ร่วมกิจกรรมที่วัด และร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ได้ แต่ทุกที่ต้องจัดโดยระวัง และจะขอให้ใช้กลไกของท้องถิ่นมาช่วยกำกับลงไปถึงระดับหมู่บ้าน จะจัดโซนนิ่งให้ทำกิจกรรมตามประเพณีภายใต้การควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอแผนปรับสถานการณ์โควิด-19 ไปสู่โรคติดต่อทั่วไป โดยจะเป็นแผนและกรอบให้ที่ประชุมศบค.รับทราบ ก่อนนำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการผ่อนคลายมาตรการ จะสวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่สวนทาง และกระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ไว้แล้วตามฉากทัศน์ และเห็นว่าจำเป็นต้องผ่อนคลายเพราะอยากให้เศรษฐกิจเดิน ให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ ฉะนั้นต้องทำ โดยมีมาตรการที่ดีที่สุดออกมาช่วยควบคุม เพื่อให้ตัวเลขการติดเชื้อไม่มีอันตราย

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การฉีดวัคซีน จะทำให้อัตราติดเชื้อน้อย หรือติดแล้วไม่รุนแรง ที่เป็นห่วงคือ 90% ของตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อเนื่องมา 2-3 เดือน คือผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ขอย้ำเรื่องการรับวัคซีน ให้ดูว่าวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ได้รับ หากมีเวลา 3-6 เดือนแล้ว ขอให้ไปบูสเข็มต่อไป ขอเชิญชวนผู้เปราะบาง ผู้สูงอายุ และประชาชน ไปขอรับการฉีดวัคซีนที่เวลานี้ได้กระจายไปทั่วประเทศ และทำให้เข้าถึงได้ง่าย

เมื่อถามถึงความชัดเจนการเตรียมให้เปิดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะได้ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ช่วงนี้จะได้ยิน 2 เรื่องคือ การปรับสถานการณ์ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และเข้าสู่การรักษาแบบโรคติดต่อทั่วไป เรื่องนี้จะเป็นแผนของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเสนอ เพื่อให้ศบค.กำหนดกรอบแนวทางเบื้องต้น ส่วนที่ประชุมชุดใหญ่จะพิจารณาหรือไม่

 

การประชุมศบค.ชุดใหญ่  (แฟ้มภาพ)

ส่วนเรื่องการเปิดหน้ากากอนามัย ยืนยันว่าการสวมหน้ากากอนามัย ยังจำเป็นตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่เราพิจารณาว่ามีความเหมาะสมที่จะเปิดได้อย่างปลอดภัย ข่าวที่ออกมาอาจเป็นแผนการในอนาคต ในช่วง 3 เดือนหรือ 6 เดือนข้างหน้า โดยจะต้องประเมินสถานการณ์ให้ต่อเนื่อง แต่ตอนนี้หน้ากากอนามัยยังจำเป็น

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีโอกาสที่จะผ่อนคลายให้การจัดกิจกรรม เช่น คอนเสิร์ต งานมหรสพ ในห้องปิดได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เรามีมาตรการมาต่อเนื่อง มีข้อกำหนดว่าการจัดกิจกรรมแต่ละประเภทเรื่องใดต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และให้รวมตัวกันได้กี่คน ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ต้องทำต่อ ยกเว้นที่ประชุมศบค. มีการปรับพื้นที่นั้นๆ จะผ่อนคลายหรือเคร่งครัดขึ้น โดยทุกเรื่องที่เสนอจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศบค.ก่อน เช่น การเปิดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

 

เมื่อถามว่า จะเสนอให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็น เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ป้องกันประชาชน เมื่อใดที่หมดความจำเป็น ตนจะพิจารณาและเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกทันที

 

เมื่อถามย้ำว่าจะยกเลิกเมื่อมีการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า แน่นอน เมื่อถึงขั้นนั้น ก็ใช้กฎหมายปกติ