พอช.รุดช่วยชุมชนริมทางรถไฟโคราช เจรจารฟท.เช่าที่ดินใกล้เคียง 7 ไร่

13 มี.ค. 2565 | 01:25 น.

พอช.รุดช่วยชุมชนริมทางรถไฟโคราช เจรจารฟท.เช่าที่ดินใกล้เคียง 7 ไร่ ระยะยาว รองรับ 8 ชุมชน ด้านชาวบ้านยันไม่ได้บุกรุก แต่ถากถางบุกเบิกสร้างที่ซุกหัวนอน ชี้เมื่อทางการให้อพยพก็ยินดีไป รอเพียงบอร์ดรฟท.ไฟเขียว

จากกรณีที่มีประชาชนอาศัยอยู่ในชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือเพื่อให้ชาวบ้านมีที่อยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี 


โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการสำรวจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบนที่ดิน 1 กลุ่ม 8 ชุมชน 342 ครัวเรือน 9 พื้นที่ในรัศมีที่ได้รับผลกระทบ 20-40 เมตรสองข้างริมทางรถไฟ

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม น.ส.เฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการเรื่องดังกล่าวว่า เบื้องต้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพ-นครราชสีมา จำนวนทั้งหมด 8 ชุมชน และจากการสำรวจข้อมูลพบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น 342 ครัวเรือน รวมถึงมีชุมชนและชาวบ้านพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการกับพอช. 166 หลังคาเรือน

 

ซึ่งนำไปสู่การเจรจากับเจ้าของที่ดิน คือ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าถ้าทางรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องย้ายชาวบ้านทั้ง 8 ชุมชน จะมีแนวทางในการแก้ไขและรองรับชุมชนดังกล่าวอย่างไร 


 

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะขอใช้ที่ดินของการรถไฟที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มารองรับการแก้ไขปัญหา ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทย  ได้ทำการสำรวจที่ดินและนำที่ดินที่จะสามารถรองรับชุมชนดังกล่าว 

 

โดยมีที่ดินทั้งหมด 7 ไร่ในเขตเทศบาลตำบลหัวทะเล อย่างไรก็ตามพอช.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ได้เข้ามาหนุนเสริมให้ชุมชนมีระบบการจัดการเรื่องการออมและการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองด้วย

 

ด้านนางเยื้อน นาครินทร์  ชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟโคราช กล่าวว่า ทราบว่าจะมีการเวนคืนที่ดินแถวนี้ ชาวบ้านจะอยู่ไม่ได้แล้ว แต่ก่อนบ้านแถบริมทางรถไฟเยอะ2 ข้างทางไม่มีที่ว่าง ส่วนใหญ่คนที่อยู่แถวนี้จะรับจ้างเก็บขยะ ขี่สามล้อ หรือรับจ้างทั่วไปบ้างประมาณ 50 กว่าหลังคาเรือนไม่มีไฟไม่มีน้ำใช้แบตเตอรี่บ้าง จุดเทียนบ้าง น้ำก็ซื้อใช้ เราไม่กลัวว่าจะโดนจับ เพราะเราไม่ได้บุกรุก เราบุกเบิก เราลำบาก เงินทองก็ไม่ค่อยมี แต่เมื่อมีปัญหาก็จำเป็นจะต้องไป

 

 

ขณะที่ นายเหมันต์ เปรมในเมือง  ชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟโคราช กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้รุ่นพ่อรุ่นแม่รุ่นตารุ่นยายเข้ามาถากถางพื้นที่ การที่บอกว่าบริเวณแถวนี้ใช้คำว่าบุกรุก ตนว่ามันไม่ถูกน่าจะใช้คำว่าบุกเบิกมากกว่า ที่ชาวบ้านอยู่ทุกวันนี้เหมือนหวาดระแวงว่าเจ้าหน้าที่จะมาไล่เมื่อใด เราก็ไปเมื่อนั้น 

 


ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนี้ไม่ได้มีสัญญาเช่า มีเจ้าหน้าที่บอกว่าที่อยู่เราได้แน่นอน เหลือแค่บอร์ดรถไฟนำเข้าที่ประชุม และเซ็นอนุมัติ จากนั้นเราก็เช่าที่ได้โดยค่าเช่าที่ตารางเมตรละ 20 บาทระยะเวลาเช่า 30 ปี โดยมี 7 ชุมชนกับอีก 1 กลุ่ม 

 


ได้แก่ ชุมชนเลียบนคร 15 ครัวเรือน ชุมชนประสบสุข 35 ครัวเรือน ชุมชนสองข้างทางรถไฟ 57 ครัวเรือน ชุมชนหลังจวนผู้ว่า 55 ครัวเรือน ชุมชนราชนิกุล 1 จำนวน 27 ครัวเรือน ชุมชนราชนิกุลสามสาม 10 ครัวเรือน ชุมชนเบญจรงค์ 76 ครัวเรือน ชุมชนทุ่งสว่าง-ศาลาลอย 36 ครัวเรือน และชุมชนมหาชัย-อุดมพร 11 ครัวเรือน ทราบว่าที่อยู่ใหม่นั้นการเดินทางไปมาสะดวกจากที่อยู่เดิมย้ายไปเพียง 5 ถึง 6 กิโลเมตร