สถานการณ์โควิดทั่วโลกติดเชื้อทะลุ 447 ล้าน-เช็กผลกระทบ Long Covid ต่อสมอง

08 มี.ค. 2565 | 01:46 น.

สถานการณ์โควิดทั่วโลกติดเชื้อทะลุ 447 ล้าน พร้อมเช็กผลกระทบ Long Covid ต่อสมองที่นี่ หมอธีระเตือนสงกรานต์ หากไม่ป้องกันให้ดีจะเป็นเทศกาลที่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อกลุ่มก้อนจำนวนมากได้

สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังมียอดผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

8 มีนาคม 2565 ทะลุ 447 ล้าน

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,148,334 คน ตายเพิ่ม 4,456 คน รวมแล้วติดไปรวม 447,647,913 คน เสียชีวิตรวม 6,025,319 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เวียดนาม เยอรมัน รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 96.23% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 97.26%

 

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็น 38.67% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 40.37%

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 10 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สถานการณ์ระบาดของไทย

 

เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 15 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ขาลงของระลอก Omicron นั้น เฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาราว 1.5 เท่าของขาขึ้น ประเมินว่าหากเราเป็นไปตามธรรมชาติการระบาดที่เห็นทั่วโลก เราคงใช้เวลาราว 5-6 สัปดาห์ 

 

ทั้งนี้ระยะเวลาขาลง และระดับการติดเชื้อใหม่ต่อวันที่จะอยู่ในระดับทรงตัวหลังลงไปนั้น จะขึ้นกับนโยบายและมาตรการรัฐว่าเปิดรับความเสี่ยงมากเพียงใด และพฤติกรรมการป้องกันของคนในสังคมนั้นระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากน้อยเพียงใด 

 

สงกรานต์ หากไม่ป้องกันให้ดี ก็จะเป็นเทศกาลที่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อกลุ่มก้อนจำนวนมากได้

 

สถานการณ์โควิดทั่วโลกติดเชื้อทะลุ 447 ล้านราย

 

อัพเดต Long COVID กับผลกระทบต่อสมอง

 

Douaud G และทีมวิจัยจากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อสมอง

 

เป็นงานวิจัยชิ้นแรก และมีความสำคัญมาก เพราะทำการสแกนสมองด้วย MRI และเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อน 401 คน และกลุ่มควบคุมที่ไม่เคยติดเชื้อ 384 คน โดยอายุตั้งแต่ 51-81 ปี
 

คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อนั้นเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วไม่ต้องนอนรพ. สูงถึง 96.25% (386 คนจาก 401 คน) 

 

ทั้งนี้มีการสแกน 2 ครั้ง ห่างกันเฉลี่ย 141 วัน ระหว่างการสแกนครั้งแรกในวันที่วินิจฉัยและวันที่สแกนครั้งที่สอง

 

ผลการศึกษาพบว่า คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้นจะมีขนาดสมองลดลงกว่าเดิม และมีปัญหาความเสื่อมถอยด้านความคิดความจำ (cognitive decline) มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มที่ติดเชื้อนั้นจะมีความหนาของชั้นสมอง grey matter ส่วน orbitofrontal cortex และ parahippocampal gyrus ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

แม้การศึกษานี้จะเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อก่อนระลอกเดลตาและ Omicron ซึ่งสายพันธุ์ของไวรัสที่ต่างกัน อาจส่งผลกระทบต่อสมองโดยรวม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองแตกต่างกันไปก็เป็นได้ ซึ่งต้องรอผลการศึกษาสายพันธุ์อื่นเพิ่มเติมในอนาคต แต่ผลการศึกษานี้ก็สะท้อนให้เราต้องระมัดระวังป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร 

 

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนที่เกี่ยวข้องให้ทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

 

ปัญหา Long COVID ทำให้เกิดความผิดปกติได้หลายระบบในร่างกาย และบั่นทอนสมรรถนะในการใช้ชีวิตและการทำงาน และจะเป็นภาระในระยะยาว ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม