ติดโควิด เจอ แจก จบ ได้ประโยชน์อย่างไร ทำแบบไหนไม่ให้ระบาดเพิ่มขึ้น เช็กเลย

01 มี.ค. 2565 | 19:11 น.

ติดโควิด เจอ แจก จบ ได้ประโยชน์อย่างไร ทำแบบไหนไม่ให้ระบาดเพิ่มขึ้น เช็กเลย หมอเฉลิมชัยแนะ 2 มาตรการสำคัญที่ต้องทำควบคู่

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

1 มีนาคม 65 สาธารณสุขเริ่มมาตรการ เจอแจกจบ ในการรับมือไวรัสโอมิครอน (Omicron) คือ รักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก ในกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมด้วย จึงจะประสบความสำเร็จ

 

จากสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ระบาดระลอกใหม่ จากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่ทยอยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องกัน 2 เดือน เป็นขาขึ้นโดยตลอด เช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลกในขณะนี้

 

โดยมีสถิติการเป็นช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง 

 

เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 กับ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้

 

ติดเชื้อ แบบตรวจ PCR  3011 ราย เเละ 22,311 ราย เพิ่มขึ้น 7.41 เท่า

 

ติดเชื้อเข้าข่าย แบบตรวจ ATK 434 ราย และ 21,497 ราย เพิ่มขึ้น 49.5 เท่า

ติดเชื้อรวม แบบตรวจ PCR+ATK  3445 ราย และ 43,802 ราย เพิ่มขึ้น 12.7 เท่า

 

รักษาตัวอยู่ในระบบ 32,929 ราย และ 213,645 ราย เพิ่มขึ้น 6.48 เท่า

 

ผู้ป่วยอาการหนัก 583 ราย และ 980 ราย เพิ่มขึ้น 1.68 เท่า

 

ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 158 ราย และ 280 ราย เพิ่มขึ้น 1.77 เท่า

 

ผู้เสียชีวิต 10 ราย และ 42 ราย เพิ่มขึ้น 4.2 เท่า

 

ติดโควิด เจอ แจก จบ ได้ประโยชน์อย่างไร

 

ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็น การเพิ่มขึ้นของสถานการณ์โควิด 19 ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

 

สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ ที่พบว่าไวรัสโอมิครอนทำให้มีการติดเชื้อมากกว่าไวรัสเดลตา 4-8 เท่า แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 5 เท่า

 

ในมิติของการแพร่ระบาดหรือจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโอมิครอน มีผู้ติดเชื้อมากกว่าเดลตาอยู่ 1.87 เท่า คือจากเดลตาสูงสุด 23,418 ราย โอมิครอนขณะนี่ 43,802 ราย

ในมิติความรุนแรงของโรค เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโอมิครอนกับเดลตา พบว่ารุนแรงน้อยกว่า 5 เท่าโดยพบผู้ป่วยอาการหนักของเดลตาประมาณ 5000 ราย ในขณะที่โอมิครอน 980 ราย น้อยกว่าประมาณ 5 เท่า

 

ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ เดลตาประมาณ 1000 ราย โอมิครอน 280 ราย น้อยกว่า 3.6 เท่า

 

และผู้เสียชีวิตจากเดลตา 312 ราย โอมิครอน 42 ราย น้อยกว่า 7.4 เท่า

 

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พอจะเห็นทิศทางสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนที่สอดคล้องไปกับข้อมูลทางวิชาการและสถิติของประเทศต่างๆทั่วโลก

 

จึงต้องมาดูระบบสาธารณสุขของเมืองไทย ที่จะรองรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้ออาการน้อย ผู้ติดเชื้ออาการปานกลางขึ้นไป และการดูแลไม่ให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

1.จำนวนเตียง ที่จะรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีประมาณ 350,000 เตียง

 

  • โรงพยาบาลหลัก 100,000 เตียง

 

  • โรงพยาบาลสนาม 110,000 เตียง

 

  • แยกกักที่บ้าน 140,000 ราย

 

ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ครองเตียงดังกล่าวทั้งสิ้น 60% คือ 210,000 เตียง เหลือเตียงว่างที่จะรับได้ 40% หรือ 140,000 เตียง

 

ถ้ามีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ มากกว่าผู้หายป่วยวันละ 5000 ราย ก็จะรองรับไปได้อีก 28 วัน

 

แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าจำนวนผู้หายป่วยถึงวันละ 10,000 ราย ก็จะสามารถรองรับได้อีกเพียง 14 วัน ซึ่งจะมีความจำกัดมากกว่าเตียงที่จะดูแลผู้ป่วยหนักและผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

ซึ่งขณะนี้ ผู้ป่วยหนักครองเตียงอยู่ 16.3% คือ 980 เตียงจาก 6000 เตียง
และผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ มีอัตราครองเตียงอยู่ 12.7% หรือ 280 เตียงจาก 2200 เตียง

 

และนอกจากนั้นข้อมูลการเสียชีวิตรายวันของประเทศไทยพบว่ามากกว่า 90% จะเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค บวกกับหญิงตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
พบว่าวัคซีน 3 เข็ม สามารถลดการเสียชีวิตได้มากถึง 97%

 

จึงทำให้แนวทางสำคัญที่จะต้องดำเนินการในสถานการณ์โควิดด้วยข้อมูลดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดคือ

 

  • จะต้องสำรองจำนวนเตียง ให้เหลือเพียงพอกับการรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปานกลางและอาการหนัก

 

  • จะต้องดูแลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ดังนั้นมาตรการการที่เรียกว่า “ เจอ แจก จบ “ หรือการดูแลแบบผู้ป่วยนอก (OPD : Out Patient Department) ให้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608

 

จึงเป็นมาตรการสำคัญที่มีความเหมาะสมในขณะนี้ เพื่อทำให้เกิดเตียงเหลือสำรองไว้รับผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนัก ตลอดจนสำรองเตียงไว้ดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มเสี่ยง 608

 

แต่ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการสำคัญอีก 2 มาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญประกอบด้วย

 

  • ต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ติดเชื้อ ที่จะทำการรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอกว่า แม้ตนเองจะไม่มีอาการ ก็ไม่ควรออกไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น เช่น ออกไปทานอาหารนอกบ้าน หรือไปพบปะเยี่ยมเยียนกลุ่มเสี่ยง เช่น ญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว

 

  • ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับกลุ่มเสี่ยง 608 ให้ครบ 100% โดยเร็วก็จะทำให้มาตรการรักษาแบบผู้ป่วยนอก สามารถบรรลุเป้าหมาย โดยไม่มีผลกระทบทางลบคือ ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หรือทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ