โควิดวันนี้โอมิครอนติดเชื้อรวมatkแล้วเท่าไหร่ ตายกี่เท่า ต้องรับมือยังไง

28 ก.พ. 2565 | 19:11 น.

โควิดวันนี้โอมิครอนติดเชื้อรวมatkแล้วเท่าไหร่ ตายกี่เท่า ต้องรับมือยังไง อ่านครบจบที่นี่ หมอเฉลิมชัยสรุปข้อมูล พร้อมแนะนวทางสำคัญ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

มาตรการสำคัญในการรับมือไวรัสโอมิครอน (Omicron) คือ รักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก ในกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่จำเป็นต้องมีมาตรการประกอบร่วมด้วย

 

จากสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ระบาดระลอกใหม่ จากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่ทยอยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องกัน 2 เดือน เป็นขาขึ้นโดยตลอด เช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลกในขณะนี้

 

โดยมีสถิติการเป็นช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง 

 

เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 กับ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้

 

ติดเชื้อ แบบตรวจ PCR

 

  • 3011 ราย เเละ 22,311 ราย

 

  • เพิ่มขึ้น 7.41 เท่า

 

ติดเชื้อเข้าข่าย แบบตรวจ ATK

 

  • 434 ราย และ 21,497 ราย

 

  • เพิ่มขึ้น 49.5 เท่า

ติดเชื้อรวม แบบตรวจ PCR+ATK

 

  • 3445 ราย และ 43,802 ราย

 

  • เพิ่มขึ้น 12.7 เท่า

 

รักษาตัวอยู่ในระบบ 

 

  • 32,929 ราย และ 213,645 ราย

 

  • เพิ่มขึ้น 6.48 เท่า

 

มาตรการสำคัญในการรับมือโอมิครอน

ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็น การเพิ่มขึ้นของสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

 

สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ ที่พบว่าไวรัสโอมิครอนทำให้มีการติดเชื้อมากกว่าไวรัสเดลตา 4-8 เท่า แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 5 เท่า

 

ในมิติของการแพร่ระบาดหรือจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโอมิครอน มีผู้ติดเชื้อมากกว่าเดลตาอยู่ 1.87 เท่า คือจากเดลตาสูงสุด 23,418 ราย โอมิครอนขณะนี่ 43,802 ราย

 

ในมิติความรุนแรงของโรค เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโอมิครอนกับเดลตา พบว่ารุนแรงน้อยกว่า 5 เท่าโดยพบผู้ป่วยอาการหนักของเดลตาประมาณ 5000 ราย ในขณะที่โอมิครอน 980 ราย น้อยกว่าประมาณ 5 เท่า

 

ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ เดลตาประมาณ 1000 ราย โอมิครอน 280 ราย น้อยกว่า 3.6 เท่า

 

และผู้เสียชีวิตจากเดลตา 312 ราย โอมิครอน 42 ราย น้อยกว่า 7.4 เท่า

 

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พอจะเห็นทิศทางสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนที่สอดคล้องไปกับข้อมูลทางวิชาการและสถิติของประเทศต่างๆทั่วโลก

 

จึงต้องมาดูระบบสาธารณสุขของเมืองไทย ที่จะรองรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้ออาการน้อย ผู้ติดเชื้ออาการปานกลางขึ้นไป และการดูแลไม่ให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

1.จำนวนเตียง ที่จะรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีประมาณ 350,000 เตียง

 

  • โรงพยาบาลหลัก 100,000 เตียง

 

  • โรงพยาบาลสนาม 110,000 เตียง

 

  • แยกกักที่บ้าน 140,000 ราย

 

ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ครองเตียงดังกล่าวทั้งสิ้น 60% คือ 210,000 เตียง เหลือเตียงว่างที่จะรับได้ 40% หรือ 140,000 เตียง

 

ถ้ามีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ มากกว่าผู้หายป่วยวันละ 5000 ราย ก็จะรองรับไปได้อีก 28 วัน

 

แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าจำนวนผู้หายป่วยถึงวันละ 10,000 ราย ก็จะสามารถรองรับได้อีกเพียง 14 วัน ซึ่งจะมีความจำกัดมากกว่าเตียงที่จะดูแลผู้ป่วยหนักและผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

ซึ่งขณะนี้ ผู้ป่วยหนักครองเตียงอยู่ 16.3% คือ 980 เตียงจาก 6000 เตียง
และผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ มีอัตราครองเตียงอยู่ 12.7% หรือ 280 เตียงจาก 2200 เตียง

 

และนอกจากนั้นข้อมูลการเสียชีวิตรายวันของประเทศไทยพบว่ามากกว่า 90% จะเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค บวกกับหญิงตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

พบว่าวัคซีน 3 เข็ม สามารถลดการเสียชีวิตได้มากถึง 97%

 

จึงทำให้แนวทางสำคัญที่จะต้องดำเนินการในสถานการณ์โควิดด้วยข้อมูลดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดคือ

 

  • จะต้องสำรองจำนวนเตียง ให้เหลือเพียงพอกับการรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปานกลางและอาการหนัก

 

  • จะต้องดูแลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ดังนั้นมาตรการการดูแลแบบผู้ป่วยนอก (OPD : Out Patient Department) ให้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608

 

จึงเป็นมาตรการสำคัญที่มีความเหมาะสม เพื่อทำให้เกิดเตียงเหลือสำรองไว้รับผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนัก ตลอดจนสำรองเตียงไว้ดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มเสี่ยง 608

 

แต่ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการสำคัญอีก 2 มาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญประกอบด้วย

 

  • ต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ติดเชื้อ ที่จะทำการรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอกว่า แม้ตนเองจะไม่มีอาการ ก็ไม่ควรออกไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น เช่น ออกไปทานอาหารนอกบ้าน หรือไปพบปะเยี่ยมเยียนกลุ่มเสี่ยง เช่น ญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว

 

  • ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับกลุ่มเสี่ยง 608 ให้ครบ 100% โดยเร็ว ก็จะทำให้มาตรการรักษาแบบผู้ป่วยนอก สามารถบรรลุเป้าหมาย โดยไม่มีผลกระทบทางลบคือ ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หรือทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ