เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

28 ก.พ. 2565 | 10:05 น.

เปิดบันทึกลับกู้ภัย ไทมไลน์ความพยายามในการเข้าไปช่วยค้นหาร่าง “แตงโม นิดา” ในคืนเกิดเหตุ แต่กลุ่มเพื่อนแตงโม-นิดา ที่อยู่บนเรือ ไม่แจ้งข้อมูลพิกัดใดใดที่เป็นประโยชน์ต่อการค้นหา

ฐานเศรษฐกิจ ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับคืนวันเกิดเหตุคดีของ "แตงโม หรือ นางสาวนิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาว ที่เสียชีวิตจากการจมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยสาเหตุอะไรที่ยังไม่ได้ข้อยุติ หลังจากเจ้าตัวไปล่องเรือสปีดโบ๊ทกับเพื่อนอีก 5 คนในคืนวันที่ 24 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา 

 

ข้อมูลนี้มาจาก นายนเรศ ศรีใส  หรือ เบียร์ อาสากู้ภัยทีมนักประดาน้ำ มูลนิธิร่วมกตัญญู นทีส่วนกลาง ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า อาสากู้ภัยรายนี้ ไปถึงที่เกิดเหตุจุดที่ “แตงโม” ตกน้ำ เป็นชุดแรกๆ พร้อมกับยืนยันว่า ทีมกู้ภัยพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และทำงานทันทีที่ได้ข้อมูล 

 

แต่ทว่าชุดกู้ภัยชุดแรกดังกล่าว พบปัญหาว่า กว่า 1 ชั่วโมงแรกที่ไปถึง แทบจะไม่ได้ข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการค้นหา โดยทั้งหมดถูกทำบันทึกลับ รายงานเป็นหลักฐาน ที่ระบุ “เวลา” สถานที่ ภาพถ่าย และประวัติการโทร ดังนี้ 

ช่วงที่ 1 - รับแจ้งเหตุ ถึงที่เกิดเหตุ

22.39น.

  • ได้รับแจ้งเหตุ และเดินทางไปที่เกิดเหตุ (ไปถึงประมาณ 23.35น. มีภาพถ่าย)

 

22.41น.

  • เป็นเวลาที่ปรากฎบันทึกการโทร ซึ่งทีมกู้ภัยชุดแรกไปถึงใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ โทรหาผู้แจ้งเหตุเพื่อระบุจุดนัดพบ ใช้เวลาพูดคุย 2 นาที 31 วินาที

 

22.47น.

  • กู้ภัยชุดแรกเข้าถึงที่เกิดเหตุ โทรศัพท์หาผู้แจ้งเหตุอีกครั้ง ใช้เวลาพูดคุย 1 นาที 35 วินาที 

 

ซึ่งช่วงเวลานี้ กู้ภัย ยืนยันว่า ยังไม่รู้ว่าผู้ประสบภัยเป็นใคร

เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

กู้ภัยเบียร์ เล่าว่า เขาเป็นกู้ภัยประมาณคนที่ 5 หรือ 6 ที่ไปถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งหมายความว่า มีหลายคนไปถึงก่อนเขาแล้ว แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่า “กู้ภัยทุกคน” ยังไม่ได้พบกับตัวผู้แจ้งเหตุเลย เพราะผู้แจ้งเหตุขับเรือวนอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เข้ามาพบหรือให้ข้อมูลกับทีมกู้ภัยเลย โดยการเข้ามาครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจาก “ตำรวจ” เรียกเข้ามา


ช่วงที่ 2 - ชี้จุด ลงค้นหา

 

23.50น.

  • ผู้แจ้งเหตุ (คนบนเรือ) เข้าฝั่งมาพบตำรวจ เพราะตำรวจเรียกมาให้ข้อมูล โดยมีเพียงผู้หญิงคนหนึ่งมาคุยกับตำรวจ (ทราบภายหลังว่า แซน) และใช้สมุดโน้ตเล่มเล็กของตำรวจจดชื่อผู้ประสบภัย โดยไม่ระบุนามสกุล บอกว่าจำนามสกุลผู้ประสบภัยไม่ได้ 

 

00.09น.

  • ผู้แจ้งเหตุ คนที่ใส่เสื้อแขนสั้นสีเทา ลงเจ็ตสกีที่เรียกมายังที่เกิดเหตุ และใช้เจ็ตสกีไปมาร์กจุดที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา และให้ข้อมูลผู้ประสบภัยแค่เป็นผู้หญิง ใส่ชุดสีขาว นั่นเป็นครั้งเดียวที่กู้ภัยได้ข้อมูลจากผู้แจ้งเหตุ

เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

"เขาใช้เจ็ตสกีไปมาร์กจุดครับ จุดที่เขามาร์กให้ว่าเป็นจุดตกน้ำ ถ้าเรายืนอยู่ที่โป๊ะท่าน้ำพิบูลย์สงคราม หันหน้าออกไปแม่น้ำ จุดที่เขาชี้คือ 11 นาฬิกาของเรา อยู่กลางแม่น้ำ เราก็เซ็ตของ รีบเอาเรือออก" 

 

มาถึงตรงนี้ หมายความว่า นับจากเวลา 22.47น. ที่ทีมกู้ภัยชุดแรกมาถึง พวกเขาเพิ่งได้ข้อมูลจุดตกน้ำจากผู้แจ้งเหตุในเวลาหลังเที่ยงคืน เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง ที่กู้ภัยไม่ได้ข้อมูลอะไรจากผู้แจ้งเหตุเลย

เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

"ชั่วโมงกว่าอ่ะครับ พวกผมมาถึง ทำได้แค่ยืนดู เขาไม่วนเรือเข้ามา ไม่บอกอะไรเราเลย ผมไม่เคยเจอแบบนี้ โดยปกติมีเหตุ เขาต้องรีบมาบอกข้อมูลเรา แบบนี้จะมาบอกว่าเราช้าได้ยังไง เขาจะบอกว่าเราช้า แต่เขากลับไม่มาคุยกับเราเลย"

 

00.35น.

  • ทีมกู้ภัยนำเรือออกจากฝั่ง เป็นเวลาแค่ 15 นาที หลังทราบจุด

เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

00.41น.

  • ทีมประดาน้ำ 4 คน แตะผิวน้ำครั้งแรก ณ จุดที่ถูกมาร์กไว้ เป็น DIVE1 น้ำไหลแรง ลมแรง ระดับความลึก 18 เมตร ระหว่างนี้ ทีมบนฝั่งเพิ่งแจ้งมาเพิ่มว่า ผู้สูญหายคือคุณแตงโม

เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

00.50 - 00.55น.

  • ทีมประดาน้ำขึ้นจากน้ำ เพราะไม่พบอะไร จะกลับเข้าฝั่งมาขอข้อมูลเพิ่มและวางแผนใหม่ แต่พอขึ้นฝั่งมา พบว่า "เรือของผู้แจ้งเหตุ ไม่อยู่ที่นั่นแล้ว" 

เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

เปิด “บันทึกลับกู้ภัย” จับพิรุธเพื่อนแตงโม-นิดา ในคืนเกิดเหตุ

ช่วงที่ 3 - ผู้แจ้งเหตุ ... หายไป

 

"ไม่มีใครในกลุ่มผู้แจ้งเหตุเหลืออยู่เลยครับ ทั้งเรือ ทั้งคนแจ้ง หายไปหมดเลย ไม่เหลือใครให้ข้อมูลเราอีก เราเลยมาวางแผนกันเองประมาณ 01.05น. เพื่อจะลงไปค้นหาอีกรอบ ทีแรกพอเราออกเรือไป ผมคิดว่าเขาจะตามมาด้วยซ้ำ แต่เขาไม่ตามมา แถมยังหายตัวไปอีก งงเลย"

 

01.14น.

  • ทีมกู้ภัยลงค้นหา DIVE2 แต่ไม่เจออะไร DIVE นี้ใช้เวลาในน้ำประมาณ 20 นาที ขึ้นจากน้ำ 01.37น. กลับขึ้นฝั่งเวลา 01.49น. ถึงเวลาต้องพักวางแผนใหม่ เพราะลมแรง หนาว น้ำแรง มืดและอันตราย

 

"เราจำเป็นต้องพักครับ ลงไปในน้ำเจ้าพระยาตอนกลางคืน ในน้ำมันไม่เห็นอะไรเลย และอากาศคืนนั้นก็หนาว แต่ที่สำคัญคือ เรามีข้อมูลน้อยมาก รู้แค่จุดที่เขาบอกแล้วเขาก็หายไปแล้ว"

 

แต่ทีมกู้ภัย ก็ตัดสินใจลงค้นหา DIVE ที่ 3 

 

02.17น.

  • ทีมกู้ภัย ตัดสินใจโทรไปหาผู้แจ้งเหตุอีกครั้ง เพื่อจะขอข้อมูลเพิ่มก่อนออกไปอีกรอบ แต่ผู้แจ้งเหตุ "ไม่รับสาย"

 

02.50น.

  • ลงค้นหา DIVE3 โดยไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม

 

"ที่เราต้องการพิกัดที่ชัดๆ เราจะได้ดูว่ากระแสน้ำตรงนั้นเป็นยังไง ผิวน้ำ ใต้น้ำ ดูความเป็นไปได้ว่ากระแสน้ำไปทางไหน น่าจะพัดผู้สูญหายไปทางไหน หรือน่าจะอยู่กับที่ และอย่าลืมว่าน้ำมันไหลตลอดเวลานะครับ การดำน้ำลงค้นหากลางคืน กลางแม่น้ำเจ้าพระยา นักดำน้ำต้องวางแผนให้ดี จะลงไปต้องมีบัดดี้ ต้องมีเชือกมัดข้อมือกันไว้ มีคนบนเรือคอยสแตนบายด์ คอยฉายไฟ ดูกระแสน้ำ มีทีมบนฝั่งคอยรองรับเหตุฉุกเฉินด้วย" 

 

"สิ่งที่ผมไม่เข้าใจ คือ คุณเรียกกู้ภัยมา เรารีบมา แต่พอมาถึงคุณปล่อยให้เรารอนานเกินชั่วโมง โดยไม่มาบอกอะไรเลย เรารับแจ้งเหตุคนตกน้ำมาทุกครั้ง คนแจ้งเขาจะรีบมาบอกว่าตกตรงไหน ผู้สูญหายเป็นใคร ใส่ชุดอะไร ตกได้ยังไง แต่ครั้งนี้ไม่บอกเลย แถมพอเราออกไปหา คนแจ้งยังหายไปเฉยๆตั้งแต่การค้นหารอบแรกยังไม่จบ โทรไปหาก็ไม่รับอีก งงจริงๆครับ" เบียร์กล่าวทิ้งท้าย
 

ขอบคุณที่มา  เฟซบุ๊ก Sataporn Pongpipatwattana