มท.1 สั่งด่วนที่สุด! ให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดรับมือพายุฤดูร้อน ปี 2565

17 ก.พ. 2565 | 11:39 น.

สั่งด่วนที่สุด “มท.” 1 สั่งการ ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด แจ้งเตือน สื่อวิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชน รับมือ “พายุฤดูร้อน" ระวังพายุ ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง อาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ตั้งแต่ปลาย ก.พ. ถึง ช่วงกลางเดือน มี.ค.

แหล่งข่าวกระทรวงมหาดไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง  สั่งด่วนที่สุด เรื่อง การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน ปี 2565  ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการจังหวัดทุกจังหวัด

 

ด้วยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงช่วงกลางเดือนมีนาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน จากนั้นช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะ ๆ และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง กับจะมีพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่

 

โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

 

สำหรับการเตรียมความพร้อม

 

1.ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจก่อให้เกิดพายุฤดูร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

2. ให้ผู้อำนวยการในแต่ละระดับ เร่งตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้างรวมถึงไม้ยืนต้นตามที่สาธารณะที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งแจ้งให้หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการ.นั้นทราบ เพื่อตรวจสอบซ่อมแซม ตามอำนาจหน้าที่ ตลอดจนเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมในการสอดส่อง ปรับปรุง ดูแลให้เกิดความปลอดภัยต่อไป

 

3.ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ ทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทันท่วงที

 

4. สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัยการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของที่พักอาศัย ช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตลอดจนมาตรการต่าง ๆของภาครัฐในการดูแลประขาชน ผ่านช่องทางการสื่อสาร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัคร เป็นต้น

 

การเผชิญเหตุ

 

1.หากเกิดเหตุวาตภัย ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินในพื้นที่ใดให้เร่งสำรวจความเสียหายและดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

 

2. กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายให้แบ่งมอบภารกิจ พื้นที่รับผิดชอบและบูรณาการหน่วยงาน เพื่อจัดกำลังในรูปแบบทีมประชารัฐในการเร่งเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร่งด่วน

 

 

3.กรณีป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น หรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเข้าดำเนินการแก้ไขไม่ให้กีดขวางพื้นที่สาธารณะ และซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว

 

 

4.กรณีความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แลอำเภอร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

 

5. เมื่อเกิดสถานการณ์วาตภัยจากพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสรุปสถานการณ์และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามช่องทางที่กำหนดต่อไป

 

 

หนังสือสั่งการด่วนที่สุด กระทรวงมหาดไทย

 

หนังสือสั่่งการด่วนที่สุด

 

หนังสือเตือนภัยพิบัติ