มาฆบูชา 2565 ชวนชม ดวงจันทร์เต็มดวงเคียงดาวเรกูลัส

15 ก.พ. 2565 | 21:00 น.

มาฆบูชา 16 กุมภาพันธ์ 2565 ชวนชม พระจันทร์เต็มดวงเคียงดาวเรกูลัส (Regulus) ในกลุ่มดาวสิงโต หรือ กลุ่มดาวมาฆะ ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นปีละครั้ง ต้องห้ามพลาด

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาที่เราชาวพุทธทราบกันดีว่า เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการในวันนี้ ซึ่งเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ประกอบด้วย

  1. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
  3. พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
  4. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้นจึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

 

และในวันนี้นี่เองที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนที่สำคัญของพระพุทธศาสนา 

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันหากลองแหงนหน้ามองท้องฟ้าในคืนวันนี้ของทุกปี เราจะได้เห็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า ดวงจันทร์เต็มดวงเคียงข้างดาวเรกูลัส ซึ่งจากข้อมูลสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 อธิบายเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้เอาไว้ว่า 

 

"ดวงจันทร์เต็มดวง" เคียงข้างดาวเรกูลัส เมื่อใด นั่นคือ "วันมาฆบูชา" 

 

โดยในคืน วันมาฆบูชา ของทุกปี จะเห็นว่า ดวงจันทร์เต็มดวงนั้นจะสว่างอยู่เคียงข้างดาวเรกูลัส (Regulus) ในกลุ่มดาวสิงโตเสมอ รวมถึงในคืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็น วันมาฆบูชา ประจำปีนี้

กลุ่มดาวสิงโต (Leo) มีชื่อกลุ่มดาวนักษัตรตามดาราศาสตร์อินเดียโบราณว่า กลุ่มดาวมาฆะ และในบางครั้ง ชื่อ ดาวมาฆะ ก็ใช้กับดาวเรกูลัส (หรือที่เรียกว่า ดาวหัวใจสิงห์) ในฐานะที่เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดและใช้อ้างอิงกลุ่มดาวดังกล่าว

 

นอกจากนี้ กลุ่มดาวมาฆะ ยังเป็นที่มาของชื่อเดือนมาฆะของอินเดีย รวมถึงวันมาฆบูชา ซึ่งหมายถึงการถวายบูชาในวันเพ็ญของเดือนมาฆะนั่นเอง

 

มาฆบูชา 2565 ชวนชม ดวงจันทร์เต็มดวงเคียงดาวเรกูลัส