วันมาฆบูชา 2565 ตรงกับวันอะไร อ่านความหมาย-ความสำคัญได้ที่นี่

14 ก.พ. 2565 | 18:00 น.

เปิดประวัติ วันมาฆบูชา 2565 ความหมาย-ความสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น  4 ประการในวันเดียวกันอะไรบ้าง อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของเราชาวพุทธอีกวันหนึ่ง สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565  มาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า มาฆปุรณมี หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม ในทุก ๆ ปี

 

ประวัติความเป็นมา

มาฆบูชา นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เป็นวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น  4 ประการในวันเดียวกัน คือ

 

1.พระสงฆ์ จำนวน 1,250 มาประชุมพร้อมเพรียงกันยังวัดเวฬุวัน ซึ่งเป็นที่พำนักของพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย

 

2.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ การอุปสมบทให้ด้วยพระวาจา

 

3.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา

 

4.วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

 

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนา ที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการประกาศหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์

โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันต์สาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้

 

  • พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่า เป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น

 

  • พระพุทธพจน์คาถาที่สอง ทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาติโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาติโมกข์เท่านั้น

 

  • พระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร การไม่ทำร้ายใคร การมีความสำรวมในปาติโมกข์ทั้งหลาย การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด และบำเพ็ญเพียรในอธิจิต

การถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย

พิธีวันมาฆบูชานี้ ไม่เคยทำมาก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกัน

 

การประกอบพิธีมาฆะบูชา

ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อนในสมัยรัชกาลที่ 4 มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องมนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย

 

สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ ทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ 30 รูป สวดรับการประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด

 

สมัยต่อมามีการเว้นบ้าง เช่น รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง มิได้เสด็จออกเองบ้างเพราะมักเป็นเวลาที่ประสบกับเวลาเสด็จประพาสหัวเมืองบ่อย ๆ หากถูกคราวเสด็จไปประพาสบางปะอิน หรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชา ในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีก ส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง

 

ต่อมาได้ขยายออกไปให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน 4

 

ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทยโดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

 

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากในสังคมไทยปัจจุบัน หญิงสาวมักเสียตัวในวันวาเลนไทน์ หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์แทน