ยอดผู้ป่วยโควิดวันนี้ทำไมติดเชื้อ-ตายมากขึ้น ผลกระทบลอง โควิด เป็นอย่างไร

15 ก.พ. 2565 | 06:15 น.

ยอดผู้ป่วยโควิดวันนี้ทำไมติดเชื้อ และตายมากขึ้นในระลอก 3-4 กับผลกระทบลอง โควิด เป็นอย่างไร อ่านที่นี่ หมอธีระฟันชัดนโยบายด้านสาธารณสุข และการเดินทางสร้างปัญหา

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

15 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุ 413 ล้านแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,419,789 คน ตายเพิ่ม 7,155 คน รวมแล้วติดไปรวม 413,717,588 คน เสียชีวิตรวม 5,843,450 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เยอรมัน ญี่ปุ่น ตุรกี และบราซิล
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 89.7% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 78.29%

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 50.84% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 41.59%

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 4 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก

ทุนมนุษย์ที่สูญเสียไปจากโควิด-19

 

Ourworldindata ได้อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตในช่วงปีที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนมีการระบาด เพื่อชี้ให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด

 

ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมมากเท่าใด นั่นย่อมสะท้อนการสูญเสียทุนมนุษย์ของประเทศนั้นมาก

 

Long Covid ผลกระทบระยะยาวที่น่าเป็นห่วง

 

หากดูไทยเราจะพบว่า excess death นั้นสูงขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมาคือทั้งระลอกสองและสาม ดังที่เราทราบกันดีว่ามีการติดเชื้อมากและเสียชีวิตมาก โดยเป็นผลจากนโยบายทั้งด้านสาธารณสุข ทั้งมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนที่มีปัญหา รวมถึงมีการเดินทางและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลกันมาก

 

ในระลอกที่ 4 หรือระลอก Omicron (โอมิครอน) นั้น แม้ความรุนแรงของโรคจะลดลงกว่าเดลตา แต่เรื่องที่จำเป็นต้องตระหนักคือ สามารถแพร่เชื้อติดเชื้อได้ไวกว่าเดิม 

สิ่งที่ต้องระวังจะไม่ได้อยู่ที่การนอนโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต แต่จะเป็นเรื่องผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อ ในลักษณะภาวะอาการคงค้าง หรือโรคเรื้อรัง ที่เราเรียกว่า Long COVID 

 

ที่จะส่งผลต่อสมรรถนะของร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้าน และสมรรถนะการทำงาน 

 

นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และสังคมในระยะยาวด้วย

 

ดังนั้นการป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นเรื่องสำคัญมากในภาวะที่การระบาดในประเทศยังเป็นไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

 

ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น 

 

หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

 

ครึ่งปีหลัง ดูแนวโน้มแล้วน่าจะหายใจหายคอได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงควรประคับประคองกันและกันให้ผ่านช่วงนี้ไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ประมาท มีสติ และใช้ความรู้ที่ถูกต้องในการตัดสินใจ