รายแรกของโลกมาแล้ว! อังกฤษพบผู้ป่วยยืนยันเป็นสายพันธุ์เดลตาครอน

14 ก.พ. 2565 | 19:11 น.

รายแรกของโลกมาแล้ว! อังกฤษพบผู้ป่วยยืนยันเป็นสายพันธุ์เดลตาครอน หมอเฉลิมชัยชี้ต้องติดตามไวรัสลูกผสมต่อไป หลังเคยพบการผสมกันของ 2 สายพันธุ์มาแล้ว อย่างน้อย 2-3 ชนิด

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

Deltacron (เดลตาครอน) รายแรก !! ทางการอังกฤษประกาศอย่างเป็นทางการในการติดตามผู้ติดเชื้อแล้ว คาดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก

 

จากกรณีนักชีววิทยาชาวไซปรัส ได้ประกาศการค้นพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกัน (Hybrid) ของสายพันธุ์เดลตากับสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) พร้อมกับตั้งชื่อใหม่ว่า Deltacron เมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 นั้น

 

ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เป็นทางการระหว่างประเทศ (GISAID) พบว่าไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 

 

แต่น่าจะมาจากการปนเปื้อนของสารพันธุกรรมไวรัสสองชนิดในระหว่างการตรวจตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ

ทำให้เรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Deltacron เงียบหายไป

 

ขณะนี้หน่วยงานเป็นทางการของอังกฤษ (UKHSA : UK Health Security Agency) ได้ทำการติดตามและตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ต่อผู้ติดเชื้อรายแรก ที่เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างไวรัสสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน

 

เชื่อว่ามาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสองสายพันธุ์ในคนคนเดียวกันและเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ทางอังกฤษแจ้งว่าไม่สามารถระบุได้ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดขึ้นที่อังกฤษ

 

อาจจะเกิดขึ้นที่อื่นก็ได้ เพียงแต่ตรวจพบเป็นแห่งแรกหรือเคสแรกของโลกที่อังกฤษ

 

 

พบผู้ติดเชื้อเดลตาครอนรายแรก

 

 

คาดว่าน่าจะมีผลกระทบทางด้านระบาดวิทยาหรือการติดเชื้อไม่มากนัก

 

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากว่า การพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในอังกฤษ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่ของอังกฤษมีภูมิคุ้มกันที่สามารถรับมือไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ได้

โดยเกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติแล้วกว่า 18 ล้านคน และมีการฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 40 ล้านคน คิดเป็น 73% ของประชากร

 

จึงทำให้คิดว่าการแพร่ระบาด ไม่น่าจะกว้างขวางมากนัก และอาการเจ็บป่วยรุนแรงก็ไม่น่าจะมากนักด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามไวรัสลูกผสม (Hybrid) แบบนี้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาก็เคยพบการผสมกันของ 2 สายพันธุ์มาแล้ว อย่างน้อย 2-3 ชนิด