วัคซีนโควิดเด็ก ทำไมต้องฉีด ช่วยอะไร อย่างไร

11 ก.พ. 2565 | 02:53 น.

วัคซีนโควิดเด็ก ทำไมต้องฉีด ช่วยอะไร อย่างไร อ่านครบจบที่นี่ หมอยงเผยแม้เด็กติดเชื้อ covid-19 อาการไม่มาก แต่จะมีจำนวนหนึ่งที่ต้องนอนโรงพยาบาล เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่น

วัคซีนโควิดเด็ก สำหรับในประเทศไทยนั้นปัจจุบันมีการอนุมัติไปแล้วหลายกลุ่มอายุ เช่น กลุ่มอายุ 5-11 ปีให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์  และอนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์มสำหรับเด็อายุ 6 ปีขึ้นไป 

 

ล่าสุดศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความว่า

 

โควิด-19 (Covid-19) ทำไมต้องให้โควิด- 19 วัคซีนในเด็ก

 

หมอยงระบุว่า ถึงแม้ว่าเด็กติดเชื้อ covid-19 แล้วอาการไม่มาก แต่ก็จะมีจำนวนหนึ่ง 

 

ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อย ที่ต้องนอนโรงพยาบาล เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ โดยเฉพาะถ้ามีอาการแทรกซ้อน หรือลงปอด 
 

และดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเด็กจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ควรจะได้รับวัคซีน และขณะนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เด็กควรจะได้รับวัคซีน 

 

หลังจากมีการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นเด็กมากขึ้น 

 

และเด็กจะเป็นแหล่งโรคที่ให้เกิดระบาดเพิ่มขึ้น และมีโอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นได้ 

 

เราเองก็ต้องการอยากจะให้เปิดโรงเรียน เพื่อการเรียนการศึกษาของเด็กนักเรียน ที่เราสูญเสียมามากแล้ว 

 

ทำไมต้องฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก

 

การได้รับวัคซีนเพื่อการป้องกัน ก็อย่างน้อยเป็นมาตรการหนึ่งในการลดการระบาดของโรค 

 

เพราะถ้าเด็กติดเชื้อแล้วโอกาสที่จะแพร่กระจาย จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะที่โรงเรียน ยังสามารถมาแพร่กระจายที่บ้านได้อีกด้วย 
 

เด็กเองเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว สามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้ ลดการนอนโรงพยาบาลและอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว

 

การได้รับวัคซีนในเด็กเป็นหมู่มากก็จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการลดแพร่กระจาย ลดการระบาดของโรค 

 

ลดการเกิดสายพันธุ์ใหม่ ลดความรุนแรงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในเด็ก เพื่อให้สภาวะความเป็นอยู่กลับมาคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 - 9 ก.พ. 65 มีการฉีดวัคซีนสะสมแล้วทั้งหมด 118,497,420 โดส แบ่งเป็น

 

  • เข็มที่ 1 จำนวน 52,611,215 ราย
     
  • เข็มที่ 2 จำนวน 49,066,498 ราย
     
  • เข็มที่ 3 จำนวน 16,819,707 ราย