โควิดติดเชื้อเดลตาครอนมีจริงหรือไม่ ข่าวจริงหรือปลอมอ่านด่วนที่นี่

10 ม.ค. 2565 | 20:11 น.

โควิดติดเชื้อเดลตาครอนมีจริงหรือไม่ ข่าวจริงหรือปลอมอ่านด่วนที่นี่ หลังนักวิจัยไซปรัสประกาศพบสายพันธุ์ผสมระหว่างเดลตา และโอมิครอน

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ฟังหูไว้หู !! ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Deltacron (เดลตาครอน) มีจริงหรือไม่ จะต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อไป

 

ขณะนี้มีรายงานข่าวเบื้องต้น จากสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่ง ว่าพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือเป็นสายพันธุ์เดลตา แต่มีสารพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาปน

 

ทำให้ตั้งชื่อใหม่เป็นไวรัส Deltacron : Delta+Omicron ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันจากหน่วยงานระหว่างประเทศ หรืออย่างน้อยรอให้องค์การอนามัยโลกออกมารับรองเสียก่อน

 

แหล่งข่าวดังกล่าวได้ อ้างถึง Professor L.Kostrikis ศาสตราจารย์ทางด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยไซปรัส ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้กับตุรกี
 

ว่าเป็นผู้ค้นพบไวรัสและตั้งชื่อใหม่ว่า Deltacron โดยอ้างว่าพบแล้วถึง 25 ราย แต่ก็บอกด้วยว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกถึงความสามารถด้านต่างๆทั้ง 3 มิติของไวรัสใหม่นี้

 

รวมทั้งได้ส่งข้อมูลไปที่ GSAID ซึ่งเป็นแหล่งรวมรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสระดับโลกแล้ว

 

ในขณะเดียวกัน Professor T.Peacock นักไวรัสวิทยาจากคอลเลจลอนดอน ( U. College London ) ได้ให้ความเห็นว่า

 

โควิดสายพันธุ์เดลตา

 

จากลักษณะของสารพันธุกรรมดังกล่าว น่าจะเป็นการปนเปื้อนระหว่างการถอดรหัสไวรัสในห้องปฏิบัติการ

 

และไม่ค่อยจะเหมือนไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากนัก โดยมีลักษณะเป็นไวรัสเดลตาเดิมเป็นหลัก แล้วมีสารพันธุกรรมบางส่วนของโอมิครอนเข้าไปปน

 

การปนเปื้อนในห้องปฏิบัติดังกล่าว ถึงแม้จะไม่ได้พบบ่อยนัก แต่ก็สามารถพบได้
Professor Peacock กล่าวว่า การแข่งกันรายงานเพื่อเป็นเจ้าแรกของสำนักข่าวต่างๆ อาจจะทำให้สาธารณะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้  

ผู้เขียนคิดว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หูในเบื้องต้น เพราะการแถลงจากนักวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว และยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติที่เชื่อถือได้ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด

 

แต่ถ้ายืนยันแล้วว่าเป็นจริงในภายหลัง ก็จะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว จะมีความสามารถในการแพร่ระบาด  มีความรุนแรงในการเกิดโรค และการดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด

 

แต่ในขณะนี้ควรรอฟังความชัดเจน และการยืนยันจากหน่วยงานในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งเสียก่อน

 

อย่างไรก็ดี หมอเฉลิมชัย ได้ระบุข้อความในโพสต่อมาด้วยว่า ถ้า เดลตาครอน เป็นเรื่องจริง จะตั้งชื่อว่า ไวรัส Pi (พาย)

 

โดยที่ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศก็รายงานต่อเนื่องว่า นักชีววิทยาชาวไซปรัสรายดังกล่าว ได้ออกมายืนยันว่าไม่มีการปนเปื้อนของไวรัสตามที่มีการตั้งข้อสังเกตจากนักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษ

 

ส่วนการที่จะตั้งชื่อว่า "พาย" นั้น หมอเฉลิมชัยระบุว่า ควรเข้าใจเรื่องพื้นฐาน และการรายงานไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังนี้

 

โควิด-19 เป็นชื่อโรค เกิดจากไวรัสชื่อโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวอาร์เอ็นเอ(RNA) จึงทำให้ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ได้ง่าย

 

GSAID เป็นองค์การระหว่างประเทศ ที่รวบรวมข้อมูลไวรัสใหม่ทุกสายพันธุ์ เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะรายงานต่อสาธารณะ ที่ผ่านมามีข้อมูลการกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 1000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย

 

โควิดสายพันธุ์โอมิครอน

 

แม้พบว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่แล้ว ก็ยังจะต้องติดตามดูว่าไวรัสดังกล่าว มีผลต่อสามมิติของไวรัสหรือไม่อย่างไร ถ้าไม่มีผล ก็ไม่มีความสำคัญที่สาธารณะจะต้องรับรู้ แต่นักวิชาการจะติดตามกันต่อไป

 

3 มิตินั้นประกอบด้วย ความสามารถในการแพร่ระบาด ความสามารถในการก่อความรุนแรงของโรค และความสามารถในการดื้อแต่วัคซีน

 

ถ้าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวกระทบมิติใดมิติหนึ่ง และมีความสำคัญกับมนุษยชาติ องค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่อไวรัสตามอักษรกรีก

 

สาธารณะจึงควรสนใจและติดตามใกล้ชิดเฉพาะไวรัสที่มีการตั้งชื่อเป็นอักษรกรีกแล้วเท่านั้น

 

ขณะนี้ได้ใช้อักษรกรีกไปแล้ว 15 ลำดับถึงโอมิครอน อักษรลำดับถัดไปคือ " พาย : Pi "

 

ดังนั้นไวรัสตัวที่จะมีความสำคัญถัดไป จะตั้งชื่อว่า "พาย"