เลือกตั้งซ่อมสงขลา-ชุมพร วันไหน ลงคะแนนล่วงหน้าได้หรือไม่ เช็คที่นี่

06 ม.ค. 2565 | 09:10 น.

กกต.กำหนดวันเลือกตั้งซ่อม ส.ส. สงขลา-ชุมพร แทนตำแหน่งที่ว่าง วันไหน วันที่เท่าไร ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยในส่วนการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แทนตำแหน่งที่ว่างลงในเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา และ เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชุมพร จากกรณีที่ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ และ นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ศาลมีคำพิพากษาคดีการชุมนุมเมื่อ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557 ให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ต้องสิ้นสุดลง 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จังหวัดชุมพรเขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลง

โดย กกต.ได้กำหนดให้วันและเวลาในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง 2 เขตเลือกตั้ง พร้อมกัน คือ วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.นี้

การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า

สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปัจจุบันไม่ถึง 90 วัน สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้

แต่ต้องยืนคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน จึงจะมีสิทธิ

กรณีเขตเลือกตั้งใดมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการเลือกตั้งใหม่ บุคคลผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวก็สามารถเดินทางกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้

การลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านตามทะเบียนบ้าน แต่ในวันเลือกตั้งต้องเดินทางออกนอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้งได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยต้องยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายในระยะเวลาที่ กกต. กำหนด

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.

1.มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2.อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง

3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

1.เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

2.อยู่ในระหว่างถูกเพิงถอนสิทธิการเลือกตั้ง

3.ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยตคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

4.วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง

1.บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)

2.บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น

  • บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • ใบขับขี่
  • หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)