กทม.แนะวิธีทิ้งชุดตรวจ ATK - หน้ากากอนามัยใช้แล้ว แยกทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี

06 ม.ค. 2565 | 04:10 น.

กรุงเทพมหานคร(กทม.)แนะวิธีทิ้งชุดตรวจ ATK และหน้ากากอนามัยใช้แล้ว แยกทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี สำหรับประชาชน เช็กที่นี่

กรุงเทพมหานคร(กทม.) แนะวิธีทิ้งชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen Test Kit)หรือ ATK และหน้ากากอนามัยใช้แล้ว  ทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี สำหรับประชาชน


1.คัดแยก 

-ชุดทดสอบแอนติเจน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 ขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง (ไม่ Swap , หลอดใส่น้ำยา ,ตลับทดสอบ)

ส่วนที่ 2 ขยะที่ไม่ปนเปื้อน (กล่องบรรจุภัณฑ์ ,เอกสารกำกับชุดทดสอบ)

 

-หน้ากากอนามัย พับตามขั้นตอน ดังนี้

ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และถอดหน้ากากอนามัยโดยไม่สัมผัสด้านใน

พับหรือม้วนหน้ากากอนามัย 

ใช้สายรัดพะนรอบหน้ากากอนามัย

2.ทำลายเชื้อ นำใส่ถุง(อาจใส่รวมกับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว)แล้วราดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ

 

3.รวบรวมใส่ถุงมัดปากให้สนิท ใส่ถุงขยะทั่วไปเขียนติดหน้าถุงว่า "ขยะติดเชื้อ" หรือใส่ถุงขยะ"สีแดง"และมัดปากถุงให้สนิท

4.ทิ้งให้ถูกที่

วิธีที่ 1 ทิ้งลงใน "ถุงขยะติดเชื้อ"

วิธีที่ 2 แยกทิ้งจากขยะทั่วไป โดยทิ้งให้รถเก็บขนขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต

 

5.สำนักงานเขตเก็บรวบรวม 


อย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

 

กทม.แนะวิธีทิ้งชุดตรวจ ATK - หน้ากากอนามัยใช้แล้ว แยกทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้จัดหาถังขยะติดเชื้อ สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัยและชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen Test Kit) โดยตั้งวางในหมู่บ้าน ชุมชน เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ทำการชุมชน โรงเรียน วัด มัสยิด เป็นต้น รวมถึงในพื้นที่สาธารณะและหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ฯลฯ

 

กทม.แนะวิธีทิ้งชุดตรวจ ATK - หน้ากากอนามัยใช้แล้ว แยกทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี

 

พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ (infographic) แนะนำวิธีทิ้งชุดทดสอบแอนติเจนและหน้ากากอนามัยใช้แล้วโดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนทราบวิธีการคัดแยกและทิ้งชุดทดสอบแอนติเจนและหน้ากากอนามัยใช้แล้วออกจากขยะทั่วไปในครัวเรือน ชุมชน อย่างถูกวิธี

 

ทั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขต ในการลงพื้นที่เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำ รณรงค์และเน้นย้ำประชาชน หน่วยงาน สถานประกอบการ และสถานที่ที่มีการตั้งถังรองรับมูลฝอยติดเชื้อ ให้แยกทิ้งชุดทดสอบแอนติเจนและหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างถูกวิธี ไม่รวมกับมูลฝอยทั่วไป โดยนำหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” และสำหรับประชาชนที่มีการใช้ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen Test Kit) เมื่อใช้เสร็จแล้ว ให้นำใส่ถุงหรืออาจทิ้งรวมในถุงหน้ากากอนามัยใช้แล้ว โดยทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการราดหรือฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วมัดหรือปิดปากถุงให้สนิท เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ” และสามารถแยกทิ้งได้ 2 วิธี ได้แก่

 

แยกทิ้งในถังรองรับขยะติดเชื้อที่กรุงเทพมหานครจัดไว้

 

แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต

 

กรุงเทพมหานครจะเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล อีกทั้ง ยังได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนขยะติดเชื้อโควิด-19 ให้มีความรู้ ความเข้าใจ วิธีการจัดเก็บ รวบรวม และขนส่งอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

 

สำหรับการบริหารจัดการขยะติดเชื้อทั่วไปและขยะติดเชื้อโควิด-19 จากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สถานที่กักตัวของรัฐ โรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) โรงพยาบาลสนามและสถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ได้จ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในการเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาที่เตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม ในส่วนของขยะติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยในครัวเรือน ชุมชน สำนักงานเขตจะจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในการจัดเก็บ และประสานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เก็บรวบรวมและนำไปกำจัด ซึ่งได้ประสานทำความเข้าใจพร้อมให้ความรู้แก่ประชาชนในการคัดแยกขยะตามแนวทางการจัดการขยะจากสถานที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อการเก็บรวบรวม ขนส่ง และการกำจัดตามหลักสุขาภิบาลต่อไป