วิกฤติโควิดอุบลฯ ประกาศเพิ่ม 6 พื้นที่เสี่ยง เจอโอมิครอนเพิ่มอีก

04 ม.ค. 2565 | 02:08 น.

หลังจากที่ ผู้ว่าฯ อุบลราชธานีได้ออกคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงหลายประเภท เพื่อสกัดโควิด “โอมิครอน” มีผลตั้งแต่ 4 ม.ค. ขณะนี้ยังมีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกกว่า 300 คน โดยคลัสเตอร์ร้าน "เอกมัย 487” เพิ่ม 84 คน ขณะการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในผู้ป่วย 12 คน พบเป็นโอมิครอนทุกคน!  

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน ใน จังหวัดอุบลราชธานี ยังน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ยังพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ผลสุ่มตรวจสายพันธุ์จากผู้ป่วย 12 คนของ คลัสเตอร์ร้านเอกมัย 487 พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประกาศ “สถานที่เสี่ยง” แพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ได้แก่

 

  • งานกีฬาชาวคุ้ม อ.พิบูลมังสาหาร ประชาชนที่เข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 28-30 ธ.ค.2565 ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อุจจาระร่วง หอบเหนื่อย ขอให้ประสานตรวจโควิด-19 ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
  • ร้าน 7-11 สาขาเยื้องธนาคารกสิกรไทย อ.พิบูลฯ ผู้มาที่ร้านระหว่างวันที่ 28-29 ธ.ค.2564 ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น หากมีอาการให้ประสานตรวจโควิด-19 ที่ รพ.สต.ใกล้บ้านทันที
  • ร้านอีสานชาบู ผู้มาใช้บริการในวันที่ 26 ธ.ค.2564 เวลา 20.00-21.00 น. ให้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น หากมีอาการให้ประสานตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.สต.ใกล้บ้านทันที
  • ร้านพันวา อ.วารินชำราบ ผู้มาใช้บริการในวันที่ 31 ธ.ค.2564 และ 1 ม.ค.2565 ให้กักตัว 14 วันทุกคน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และขอให้ไปตรวจโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
  • ร้าน loft 69 bar and Restaurant อ.เมืองอุบลราชธานี ลูกค้าและพนักงานที่เข้าร้านในวันที่ 28 ธ.ค.2564 ให้สังเกตอาการตนเอง งดสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย ตรวจ ATK ด้วยตนเองทุก 3-5 วัน หากผลเป็นบวก หรือมีอาการ ให้ไปตรวจ COVID-19 ที่โรงพยาบาลทันที
  • ร้าน 20+ อ.เมืองอุบลราชธานี ผู้เข้าใช้บริการในวันที่ 27 ธ.ค.2564 ขอให้แยกกักตัว 14 วัน งดสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น และไปตรวจโควิด-19 คนละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

 

ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ม.ค. จังหวัดอุบลราชธานีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 329 คน ยอดป่วยสะสม 24,462 คน เสียชีวิตสะสม 193 คน รักษาตัวอยู่ 1566 คน โดยคลัสเตอร์ร้านเอกมัย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม 84 คน ยอดสะสม 619 คน ขณะที่การสุ่มตรวจสายพันธุ์ในผู้ป่วยจำนวน 12 คน พบเป็นโอมิครอนทั้งหมด 12 คน

วิกฤติโควิดอุบลฯ ประกาศเพิ่ม 6 พื้นที่เสี่ยง เจอโอมิครอนเพิ่มอีก

วิกฤติโควิดอุบลฯ ประกาศเพิ่ม 6 พื้นที่เสี่ยง เจอโอมิครอนเพิ่มอีก

วิกฤติโควิดอุบลฯ ประกาศเพิ่ม 6 พื้นที่เสี่ยง เจอโอมิครอนเพิ่มอีก

ในวันเดียวกันนั้น นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงนามใน คำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 3/2565 เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยง ต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 เป็นการชั่วคราว ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในจังหวัด ทำให้มีการปิดชั่วคราวสถานที่เสี่ยงพร้อมกำหนดบทลงโทษ มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. ถึงวันที่ 17 ม.ค. 2565 (อ่านเพิ่มเติม: โอมิครอน ป่วน !อุบลราชธานี จังหวัดสั่งปิด ร.ร. - ร้านอาหาร(แอร์)- ฟิตเนส 14วัน)

 

ทั้งนี้ ล่าสุด เพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี ยังได้เผยแพร่ประกาศการปรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรณีการห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน เว้นแต่การจัดงานประเพณี การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธี ได้แก่ งานศพ งานบวช งานมงคลสมรส หรือกิจกรรมอื่น ๆที่มีความจำเป็น โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค มีผลตั้งแต่ 4 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น  

วิกฤติโควิดอุบลฯ ประกาศเพิ่ม 6 พื้นที่เสี่ยง เจอโอมิครอนเพิ่มอีก

ในส่วนของการเอาผิดสถานบริการที่เป็นต้นเหตุการณ์แพร่ระบาดในเขต อ.เมืองอุบลราชธานีนั้น เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา นายนคร ศิริปริญญานันท์ นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้นายอธิพันธ์ วัฒนวงษ์สิงห์ ปลัดอำเภอเมืองอุบลราชธานี แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี กับเจ้าของร้านเอกมัย 487 ให้ถึงที่สุด ในฐานฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 54559/2564 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยสถานบริการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ประกอบด้วยพยานหลักฐาน ได้แก่

  • บันทึกการสอบสวนโรคของทีมสาธารณสุขที่เชื่อมโยงชัดเจนว่าผู้ป่วยได้ไปใช้บริการ/ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี
  • พยานหลักฐานจากสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ชัดเจนว่าร้านที่เป็นต้นทางของการแพร่ระบาดมีการลักลอบเปิดบริการเกินเวลาและมีการปล่อยปละละเลยให้มีการจำหน่ายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

 

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลราชธานี ร่วมกับเทศบาลนครอุบลราชธานี สอบสวนผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อดำเนินคดีกับร้านอื่นที่มีความเชื่อมโยงกับร้านเอกมัย 487 พร้อมกันนี้ จะได้มีหนังสือถึงจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้มีการสั่งปิดร้านดังกล่าวชั่วคราว ตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้…ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอํานาจในพื้นที่ ความรับผิดชอบของตน สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว

 

โดยเบื้องต้นได้มีหนังสือขอความร่วมมือร้านที่เข้าข่ายดังกล่าว หยุดดำเนินกิจการเป็นเวลา 14 วันแล้ว