ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นเข็ม 3 รับมือ "โอมิครอน" ได้

24 ธ.ค. 2564 | 06:16 น.

ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นเข็ม 3 รับมือ โอมิครอน ได้ หมอเฉลิมชัยแนะเร่งงฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนทุกคนโดยเร็ว

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดี !! วัคซีน AstraZeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) เข็มที่ 3 รับมือไวรัสกลายพันธุ์ Omicron (โอมิครอน) ได้ดี
จากกรณีที่ไวรัส Omicron มีการดื้อต่อวัคซีน โดยมีรายงานจากหลากหลายบริษัทว่า การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งสามารถรับมือไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมได้ดี รวมทั้งรับมือไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้  ด้วยนั้น
เมื่อต้องพบกับไวรัส Omicron วัคซีนทั้งของ AstraZeneca, Pfizer (ไฟเซอร์) ,Moderna (โมเดอร์นา) และ Sinovac (ซิโนแวค) ล้วนต่างมีระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงอย่างมากในการรับ

ทำให้ทุกบริษัทต้องเร่งทำการศึกษาทดลอง การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ว่าจะรับมือไวรัสใหม่ ได้ดีมากน้อยเพียงใด
วันที่ 23 ธ.ค. 64 การศึกษาจากมหาวิทยาลัย Oxford มีรายงานออกมาว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนของ AstraZeneca เข็มที่ 3 ขึ้นสูง จนเพียงพอที่จะรับมือกับไวรัส Omicron เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนสองเข็ม แล้วรับมือไวรัสเดลตาได้ในปัจจุบัน
ข้อมูลดังกล่าว อยู่ในลักษณะใกล้เคียงกับวัคซีนของบริษัท Pfizer, Moderna และ Sinovac ที่พบว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ผลดีสามารถรองรับไวรัส Omicron ได้

แอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 3 รับมือโอมิครอนได้
การศึกษาดังกล่าวนี้ ทำให้ลดข้อกังวลใจของนักวิชาการบางส่วน ที่คาดว่าวัคซีนเข็ม 3 ของบริษัท AstraZeneca ซึ่งใช้เทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ค่อยดีนักเนื่องจากร่างกายอาจจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านวัคซีน ซึ่งมีส่วนประกอบย่อยเป็นไวรัสก่อโรคหวัด (Adenovirus)
 

นับเป็นข่าวดีมาก ที่ขณะนี้ มีวัคซีนอย่างน้อยสี่บริษัท ที่ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แล้วพอที่จะรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่คือ Omicron ได้
ประเทศไทยจึงควรเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนทุกคนที่มีความประสงค์จะฉีดวัคซีนโดยเร็ว โดยระยะห่างเบื้องต้นคือ ผู้ที่ฉีดเข็มสองมาแล้วอย่างน้อยสามเดือนเป็นต้นไป
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลพบว่าล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 205 คน 
ส่วนกรณี 2 สามี และภรรยา ที่เดินทางจากประเทศเบลเยี่ยมเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Test & Go แล้วกลับบ้านไปที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดอุดรธานี  ก่อนจะพบว่า ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ล่าสุดในกลุ่มนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงกว่า 100 คน  โดยในจำนวนนี้รับรายงานมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 22 คน ซึ่ง 19 คน เป็นพนักงานร้านอาหารที่สามี ภรรยาเดินทางไปรับประทาน ส่วนอีก 3  คน เป็นคนในครอบครัว