เช็คอาการโอมิครอน Omicron สัญญาณแบบไหนเสี่ยงติดเชื้อโควิด

22 ธ.ค. 2564 | 09:02 น.

เปิดอาการโอมิครอน - โอไมครอน ต้องมีสัญญาณอาการแบบไหนถึงจะเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ตรวจเช็คข้อมูลทั้งหมดที่นี่

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ทั่วโลกในตอนนี้ ต่างเฝ้าระวังการสายพันธุ์โอมิครอน -โอไมครอน (Omicron) ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวมีการติดเชื้อกันอย่างรวดเร็ว และอาจจะกระทบกับประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในส่วนของประเทศไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน (22 ธ.ค.64) อยู่ที่ 104 ราย

 

สำหรับอาการบ่งชี้ของการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เบื้องต้นข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ,หมอพร้อม ,สสส. ได้ออกประกาศเตือนว่า หากมีอาการเหล่านี้ ให้ตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ โดยอาการที่ว่ามีดังต่อไปนี้

  1. แรกเริ่มมักมีน้ำมูก จาม ปวดหัว
  2. ต่อมาอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ
  3. บางคนมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน 

 

หากมีอาการดังกล่าวให้ปฏิบัติดังนี้

  • สำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังควรรีบพบแพทย์
  • ถ้าเคยไปในพื้นที่เสี่ยง ควรตรวจ ATK 
  • แม้ฉีดวัคซีนครบ ก็ไม่ควรประมาทให้สังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์


อาการโอมิครอน - โอไมครอน Omicron

ด้านโรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับลักษณะอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน  พร้อมทั้งคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน ซึ่งเนื้อหารายละเอียดของบทความทั้งหมด มีดังต่อไปนี้

 

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (B.1.1.529) จากรายงานส่วนใหญ่ในผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วมักพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการเล็กน้อยหรือแทบจะไม่แสดงอาการเลย โดยอาจพบอาการเหล่านี้ได้

  • อ่อนเพลีย
  • เหนื่อยง่าย
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • ไม่ค่อยมีไข้
  • จมูกยังได้กลิ่น
  • ลิ้นยังสามารถรับรสได้
  • อาจมีอาการไอเล็กน้อย
  • ปอดอักเสบ

 

ล่าสุด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเทศอังกฤษ ได้อัพเดทอาการใหม่ของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเติม 5 อาการ ซึ่งอาการเหล่านี้แตกต่างจากโควิดสายพันธุ์อื่นๆ

  • เจ็บคอ
  • ป่วยกล้ามเนื้อเล็กน้อย
  • เหนื่อยมาก
  • ไอแห้ง
  • เหงื่อออกมากตอนกลางคืน

(ที่มา: Amir Khan (2021))

 

สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว อาการไม่รุนแรง จนแทบไม่มีอาการ ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตาม เราควรต้องเฝ้าระวังและดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะนำให้รีบไปรับวัคซีนป้องกันโควิด

 

และใครที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป สามารถรับวัคซีนเข็ม 3 (Booster Dose) เพราะร่างกายของเราต้องการระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น แม้ว่าจะเคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว หรือฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังคงติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้ได้
 

 

ที่มาข้อมูล- ภาพ :โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ ,สสส.