อัพเดท "โอมิครอน" รุนแรงไม่แพ้เดลตา-ติดซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม

18 ธ.ค. 2564 | 02:25 น.

อัพเดทโอมิครอน (Omicron) รุนแรงไม่แพ้เดลตา หมอธีระเผยข้อมูลพบติดซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม ดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน

รายงานข่าวระบุว่า  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
17 ธันวาคม 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 694,939 คน ตายเพิ่ม 6,616 คน รวมแล้วติดไปรวม 273,916,442 คน เสียชีวิตรวม 5,359,878 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นะ 92.4% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 94.92%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 59.53% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 56.93% 
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 3,537 คน สูงเป็นอันดับ 32 ของโลก
หากรวม ATK อีก 1,080 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 25 ของโลก
ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย
อัพเดต Omicron (โอมิครอน)
เดนมาร์กรายงานจำนวนติดเชื้อล่าสุดเมื่อวานนี้ทำลายสถิติอีกครั้ง สูงถึง 11,194 คน ถือว่ามากกว่าปลายปีที่แล้วถึง 2.48 เท่า
เมื่อวานสหราชอาณาจักรมีการติดเชื้อเพิ่มทำลายสถิติอีกครั้ง สูงถึง 93,045 คน โดยที่มีอัตราการตรวจพบเป็นสายพันธุ์ Omicron สูงถึง 54.2% ทั้งนี้เฉพาะในลอนดอน มีอัตราการตรวจพบ Omicron สูงถึงราว 80%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
งานวิจัยจาก Imperial College พบว่า จากการติดตามจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลของสหราชอาณาจักร ความรุนแรงของโรคจาก Omicron ดูจะไม่ได้แตกต่างจากเดลตา ทั้งนี้คงต้องมีการติดตามต่อไปเพื่อทำการประเมินให้ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ล่าสุดรายงานประเมินความเสี่ยงของ Omicron โดย UK HSA (Technical briefing ฉบับที่ 32) มีสาระสำคัญดังนี้
1.Omicron จะทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อกันในครัวเรือน (Household transmission) มากกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 2.9 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น 2.4-3.5 เท่า)
2.จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าลักษณะการติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron ในสหราชอาณาจักรนั้น มีถึง 47.8% ที่ติดจากผู้ติดเชื้อที่อยู่นอกครัวเรือน ในขณะที่สายพันธุ์เดลตานั้นมีลักษณะการติดเชื้อจากคนภายนอกครัวเรือนเพียง 19.8% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าลักษณะการติดเชื้อแพร่เชื้อของ Omicron นั้นแตกต่างจากเดลตาเดิม และอาจต้องนำไปพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมป้องกันโรคให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
ด้วยข้อมูลสถานการณ์ระบาดของ Omicron ทั่วโลก จะพบว่า นี่เป็นภัยคุกคามที่รุนแรง ทั้งในเชิงอัตราการแพร่ที่รวดเร็วกว่าเดิม ติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม ดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน รวมถึงการดื้อต่อการรักษาด้วยโมโนโคลนัล แอนติบอดี้หลายชนิด
ต่อให้ความรุนแรงของสายพันธุ์นี้จะเท่าเดลตา หรือจะน้อยกว่าเดลตา แต่จำนวนการติดเชื้อใหม่ที่จะปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้มีคนเจ็บป่วยได้มาก
เราจึงเห็นปฏิกิริยาตอบสนองเชิงนโยบาย และมาตรการควบคุมป้องกันโรคจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เน้นเรื่องความเข้มงวด เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แม้กระทั่งประเทศที่เคยประกาศจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ก็ไม่เว้น

โอมิครอนรุนแรงไม่แพ้เดลตา
ยืนยันอีกครั้งด้วยหลักฐานวิชาการต่างๆ ว่า "โควิด-19 ไม่กระจอก"
บทเรียนจากวาทกรรมก็แค่ไข้หวัดธรรมดา ไวรัสกระจอก เอาอยู่ เพียงพอ รับมือได้ เป็นดังที่เราเห็นในรอบปีที่ผ่านมา
กว่าสองล้านคนที่ติด
กว่าสองหมื่นชีวิตที่สูญเสีย
เกิดจากเหตุใด? 
ควรทำเช่นไรเพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเรา สมาชิกในครอบครัว คนรอบข้างในที่ทำงาน และคนที่เรารู้จักมักจี่ สนิทสนมรักใคร่ชอบพอกันในสังคม
ประชาชนทุกคนควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท มีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ไม่หลงไปกับวาทกรรมที่ไม่ถูกต้อง
ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
เลี่ยงการจัดปาร์ตี้สังสรรค์คริสตมาสและปีใหม่ ฉลองกับคนในบ้านจะปลอดภัยกว่า
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 18 ธันวาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3,132 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,159,766 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 28 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,278 ราย กำลังรักษา 43,305 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,096,543 ราย