เฝ้าระวังโควิดลูกผสม โอมิครอน-เดลตา กลายเป็นไฮบริด

14 ธ.ค. 2564 | 02:56 น.

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี เผยสาเหตุว่าทำไมต้องความสนใจการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่าง “โอมิครอน” และ “เดลตา” กลายเป็นโควิดลูกผสม เพราะโอมิครอนดึงเอาจีโนมบางส่วนของต่างสายพันธุ์ผนวกไว้ในสายจีโนมของตัวเองได้ 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ระบุว่า ได้ดำเนินการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 มาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อศึกษาธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัสดังล่าว ที่อาจส่งผลต่อชุดตรวจ PCR  ยาต้านไวรัส วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ

รวมทั้ง การติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) ด้วยสายพันธุ์เดียวกัน หรือต่างสายพันธุ์  และการติดเชื้อมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ในคนเดียวกัน "Mixed-infection” ซึ่งอาจส่งผลต่อการป้องกัน ดูแล รักษา หรือการปรับเปลี่ยนเวชปฏิบัติ (medical practice) ได้

การติดเชื้อแบบ “Mixed-infection” หรือการติดเชื้อมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ในคนเดียวกันสามารถตรวจสอบได้ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสจากสิ่งส่งตรวจแล้วพบรหัสพันธุกรรมไวรัส 2 สายพันธุ์ในผู้ติดเชื้อรายเดียวกัน ซึ่งในกรณีของไวรัสโคโรนา 2019 การเกิด “Mixed-infection” พบได้ประปราย

ประเทศไทยเคยพบการติดเชื้อมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ในผู้ติดเชื้อรายเดียวกัน เป็นการติดเชื้อร่วมระหว่างสายพันธุ์ “แอลฟา” และ “เดลตา” จากแคมป์คนงาน ซึ่งพบโดย “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข” และ “ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ”

การติดเชื้อแบบ “Mixed-infection” อันตรายแค่ไหน

อาจจะก่อให้เกิดไวรัสลูกผสม (hybrid) ขึ้นได้  โดยสายจีโนมของไวรัสลูกผสมจะประกอบด้วยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ ซึ่งทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องถอดรหัสพันธุกรรมรุ่นที่สาม (Third generation sequencer) ซึ่งจะสามารถถอดรหัสชิ้นส่วนจีโนมสายยาวถึง 1,200 bp ได้ (Single-molecule long-read sequencing) โดยจะสามารถแยกแยะได้ว่าผู้ติดเชื้อรายนั้นติดเชื้อไวรัสโคโนนา 2019 มากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ หรือติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวแต่เป็นไวรัสลูกผสม (hybrid)

อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานจาก “WHO”  ถึงการค้นพบไวรัสโคโรนา 2019 ลูกผสม (hybrid)

 

ทำไมต้องกังวลเเละควรให้ความสนใจ

ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะนักวิยาศาสตร์ได้พบว่า “โอมิครอน” (B.1.1.529) มีความสามารถพิเศษต่างจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่นตรงที่สามารถดึงเอาจีโนมบางส่วนของบรรดาไวรัสโคโรนาต่างสายพันธุ์เข้ามาผนวกไว้ในสายจีโนมของตัวเองได้  โดยมีรายงานว่าสามารถดึงชิ้นส่วน “ins214EPE” ของ “Human coronaviruses” สายพันธุ์ย่อย “HCoV-229E” ที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดหรือ “common cold” เข้ามาไว้ในจีโนมของ “โอมิครอน” ได้

 

ซึ่งคาดกันว่าอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ “โอมิครอน” มีการระบาดอย่างรวดเร็ว แต่มีอาการไม่รุนแรง (ต่างจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่น) อันเป็นคุณสมบัติของ “Human coronaviruses” สายพันธุ์ย่อย “HCoV-229E”  โดยที่ไวรัสโคโรนา 2019  สายพันธุ์อื่น เช่น เดลตา แอลฟา บีตา แกมมา มิว แลมบ์ดา ฯไม่มีพฤติกรรมดึงชิ้นส่วนจีโนมของไวรัสสายพันธุ์อื่นเข้ามาไว้ในจีโนมตัวเอง

 

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ศูนย์จีโนมฯต้องติดตาม “โอมิครอน” ว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุ์กรรม กับ “เดลตา” ซึ่งปัจจุบันครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในขณะนี้ ส่วนหากเกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “โอมิครอน” กับ “เดลตา” จะมีการแพร่ระบาดและอาการรุนแรงหรือไม่  อย่างไร  ยังไม่อาจคาดคะเนได้

ที่มา: Center for Medical Genomics