พบคนไทยติดเชื้อ HIV รายใหม่กว่า 5 พันคน ตายเฉลี่ย 31 คน/วัน

12 ธ.ค. 2564 | 03:16 น.

อภ. เผยพบคนไทยติดเชื้อ HIV เฉลี่ย 16 คนต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 31 คนต่อวัน พร้อมเร่งยื่นขอขึ้นทะเบียนยาต้านไวรัสเอดส์สูตรใหม่ หวังยืดอายุผู้ติดเชื้อยืนยาวขึ้น คาดยาต้านฯ สูตรใหม่จะทยอยถึงมือผู้ป่วยปลายปี 65

ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคเอดส์ทั่วโลก พบว่าในปี 2563 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก สะสม 37.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 680,000 คน สำหรับประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง จากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อ ณ 19 เม.ย.64 พบว่ามีผู้ติดเชื้อ ณ ปัจจุบัน จำนวน 493,859 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 5,825 คน (เฉลี่ย 16 คน/วัน) และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 11,214 คน/ปี (เฉลี่ย 31 คน/วัน)

 

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น และมีชีวิตที่ยืนยาว ดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข องค์การฯ จึงได้คิดค้น วิจัย และพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ ตามแนวทางการรักษาใหม่ ซึ่งมีทั้งยาต้านไวรัสเอดส์สูตร ที่มี Dolutegravir ตามแนวทางการรักษาล่าสุด และยารักษาโรคแทรกซ้อน เช่น ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีที่ลดการดื้อยา และ ยาต้านไวรัสตับอักเสบซีที่รักษาครอบคลุมได้ทุกสายพันธุ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าจะเริ่มทยอยออกสู่ผู้ป่วยได้ประมาณปลายปี 2565

ยาดังกล่าวมีการดูดซึมที่ดีกว่า ขนาดยาที่ใช้น้อยกว่า สามารถรับประทานยาได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงให้ประสิทธิผลในการออกฤทธิ์เท่าเดิมหรือดีขึ้น สามารถลดอาการข้างเคียงและการดื้อยาได้ โดยมีการปรับราคายาจากเดิมที่มีราคาสูงให้ถูกลง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องตามเป้าหมาย “ลดการติดเชื้อ ลดการตาย ลดการตีตรา” ภญ.ศิริกุล กล่าว

รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวอีกว่า องค์การเภสัชกรรมยังคงมีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น หากผู้ป่วยได้รับยาอย่างรวดเร็ว และสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “เอดส์รู้เร็วรักษาได้” อีกทั้งยังมีการพัฒนายาที่ใช้ในการรักษาให้ทันตามแนวทางการรักษาใหม่ เพื่อใช้ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกมากขึ้น