วัคซีน Pfizer-Moderna ประสิทธิผลลดลงเมื่อเจอโควิดสายใหม่พันธุ์โอไมครอน

02 ธ.ค. 2564 | 03:12 น.

วัคซีน Pfizer-Moderna ประสิทธิผลลดลงเมื่อเจอโควิดสายใหม่พันธุ์โอไมครอน หมอเฉลิมชัยเผยทั้ง 2 บริษัทเริ่มพัฒนาวัคซีนใหม่เพื่อรับมือแล้ว หลังโอไมครอนมีแนวโน้มที่จะดื้อต่อวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
สองบริษัทยักษ์ใหญ่ Pfizer และ Moderna ออกมายอมรับว่า ประสิทธิผลของวัคซีนจะลดลงเมื่อเจอไวรัสโอไมครอน จึงเริ่มพัฒนาวัคซีนใหม่เพื่อรับมือแล้ว สืบเนื่องจากเกิดไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน (Omicron) ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุดคือกลุ่มน่าห่วงกังวล (VOC)
เพราะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหนาม(Spike) เหตุเกิดจากสารพันธุกรรมที่ควบคุมการสร้างหนามเปลี่ยนแปลงไป 32 ตำแหน่งมากกว่าไวรัสเดลตา ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียง 9 ตำแหน่ง ถึง 3.5 เท่าตัว
ทำให้โครงสร้างของหนามไวรัส โอไมครอน จะมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าไวรัสเดลตา หนามหรือเอสโปรตีน (S-protein) เป็นส่วนสำคัญมากของไวรัส ใช้ในการเกาะเพื่อเข้าเซลล์ เมื่อเข้าเซลล์แล้ว ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อและมีอาการป่วย มากน้อยแตกต่างกันไป วัคซีนทุกชนิดที่ผลิตขึ้นมา จึงต้องป้องกันส่วนหนามด้วยเสมอ

ซึ่งวัคซีนเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) และไวรอลเวกเตอร์ (Viral vector) จะผลิตภูมิคุ้มกันสู้เฉพาะหนาม มีเพียงวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ที่ผลิตให้สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสู้กับหนามและส่วนอื่นของไวรัสด้วย
ทำให้คาดคะเนได้ว่า ประสิทธิผลของวัคซีนทุกเทคโนโลยี จะต้องลดลงเมื่อเจอไวรัสโอไมครอน ไม่มากก็น้อย เพราะโครงสร้างของหนามได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาไปแล้ว
วัคซีนที่ป้องกันหนามอย่างเดียว จึงเสี่ยงที่จะมีประสิทธิผลลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าวัคซีนที่ป้องกันไวรัสทั้งตัว

Pfizer ประสิทธิผลลดลงเมื่อเจอไวรัสโอไมครอน
ขณะนี้ผู้บริหารสูงสุดของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตวัคซีนเทคโนโลยี mRNA คือ Pfizer และ Moderna ได้ออกมายอมรับในเบื้องต้นว่า บริษัทคิดว่าประสิทธิผลของวัคซีนตนเอง ที่จะรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน จะลดลงแน่นอน มากหรือน้อยเท่านั้นเอง
จึงได้เร่งดำเนินการสองอย่างคือ
1.วัดประสิทธิผลของวัคซีน ว่าจะลดลงเท่าใด คาดว่าผลจะออกในสองสัปดาห์
2.ได้เริ่มต้นพัฒนาวัคซีน ที่สามารถรับมือกับไวรัสโอไมครอน

ถ้าบังเอิญโชคไม่ดี วัคซีนมีประสิทธิผลลดต่ำลงอย่างมาก ก็จะได้พัฒนาวัคซีนรับมือโอไมครอนให้เร็วขึ้น
CEO ของ Moderna คาดว่า วัคซีนที่มีอยู่นั้น จะมีประสิทธิผลลดลง แต่ไม่ทราบว่ามากน้อยเพียงใด ทางบริษัทจะต้องใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะผลิตวัคซีนใหม่ขึ้นมาได้
CEO ของ Pfizer กล่าวเช่นกันว่า วัคซีนของตนคงจะมีประสิทธิผลลดลง และตามแผนจะต้องใช้เวลา 3-4 เดือน จึงจะผลิตวัคซีนใหม่ขึ้นมารับมือได้
แต่ความสามารถในการผลิต จะอยู่ที่เดือนละ 300 ล้านโดส ซึ่งจะไม่เพียงพอสำหรับประชากรของโลก
ในขณะที่ผู้บริหารของบริษัท Johnson & Johnson AstraZeneca Novavax และ Sputnik V ล้วนออกมากล่าวในทำนองเดียวกันว่า วัคซีนของตนน่าจะมีประสิทธิผลต่อไวรัสโอไมครอนลดลง

Moderna ประสิทธิผลลดลงเมื่อเจอไวรัสโอไมครอน
ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาวัคซีน ทั้งในลักษณะเป็นเข็มกระตุ้นจากวัคซีนเดิม หรือออกมาเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ที่จะต้องฉีดสองเข็มอีกครั้งหนึ่ง
จึงพอกล่าวได้ว่า ไวรัสโอไมครอนมีแนวโน้มที่จะดื้อต่อวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เพียงแต่ประสิทธิผลที่ลดลงนั้น ถ้าไม่มากคือ ยังกันได้มากกว่า 50% ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกแล้ว
วัคซีนที่มีอยู่ก็ยังใช้ได้ เช่นที่เคยใช้รับมือกับเดลต้ามาโดยตลอด
แต่ถ้าโชคไม่ดี ประสิทธิผลของวัคซีนใดลดต่ำกว่า 50%  ก็จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนเวอร์ชั่นใหม่
ซึ่งวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ จะใช้เวลาน้อยกว่าในการปรับหรือผลิตวัคซีนเวอร์ชั่นแรก (ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งปี)
วัคซีนใหม่น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
คงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะไวรัสก่อโรคโควิดได้สร้างความทุกข์ยากให้กับมนุษย์มาครบสองปีแล้ว
ถ้าไวรัสกลายพันธุ์ มีผลอย่างกว้างขวางและเกิดการระบาดออกไปอีกสองปี ก็จะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากของมนุษยชาติ
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 30 พ.ย. 64 มีการฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 93,231,463 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 48,307,704 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 41,485,442 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 3,438,317 ราย