เคาะเวนคืนที่ดิน 7 ตำบล "สุโขทัย-อุตรดิตถ์" ปรับปรุง "คลองหกบาท" แก้น้ำท่วม

24 พ.ย. 2564 | 05:33 น.

มติที่ประชุมครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ 7 ตำบลจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อปรับปรุง "คลองหกบาท" แก้ปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 64 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลป่ากุมเกาะ ตำบลในเมือง ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก ตำบลศรีนคร ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ตำบลไร่อ้อย ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ 

และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กษ. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอว่า

1. เนื่องจากที่ผ่านมาบริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำยมออกสู่คลองสาขา แต่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำได้ กษ. โดยกรมชลประทาน จึงมีแนวทางในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการโครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย เพื่อปรับปรุงคลองหกบาทพร้อมกับขุดคลองชักน้ำ (ชักน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่คลองหกบาท) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำเข้าคลองหกบาทให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น จาก 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 500 ลูกบาศ์ก์เมตรต่อวินาที และแบ่งการระบายน้ำจากคลองหกบาท ออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ 

  • ทางที่หนึ่ง ระบายไปทางคลองยม – น่าน โดยปรับปรุงให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมขุดช่องลัดลงแม่น้ำน่าน เพื่อชักน้ำจากคลองยม – น่านลงสู่แม่น้ำน่าน 
  • ทางที่สอง ระบายไปสู่คลองยมเก่า ซึ่งระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 
ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำเข้าคลองหกบาทและคลองยม – น่าน จะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยลดลงเหลือเพียง 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิม 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (เท่ากับความสามารถการรองรับน้ำของบริเวณนี้ที่จะรับได้)

ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เมืองสุโขทัยและพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองเพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้อีกด้วย    

2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อนุมัติให้ กษ. โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2567) ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 2,875,000,000 บาท 

3. การก่อสร้างโครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จะต้องใช้ที่ดินจำนวนประมาณ 457 แปลง เนื้อที่ประมาณ 222 ไร่ ค่าทดแทนทรัพย์สินทั้งโครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,000,000 บาท               

4. ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย ตามข้อ 2. เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ กรมชลประทานจึงมีความจำเป็นต้องเข้าไปทำการสำรวจให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด

เพื่อประโยชน์แก่การชลประทานสำหรับพื้นที่การเกษตร การอุปโภคและบริโภค ตลอดจนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปสำรวจและเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องได้มาโดยแน่ชัด 

5. ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุม 15 ตำบล 27 หมู่บ้าน คิดเป็น 5,340 ครัวเรือน ช่วยกักเก็บน้ำในแนวคลองเพื่อเป็นแหล่งน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งครอบคลุมพื้นที่ 3,700 ไร่ ทำให้ราษฎรมีสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากผลผลิตการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น  

6. กษ. โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้ว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในรายละเอียดเป็นอย่างดี  

7. สำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นให้กรมชลประทานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอน  

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลป่ากุมเกาะ ตำบลในเมือง ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก ตำบลศรีนคร ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ตำบลไร่อ้อย ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อการก่อสร้างโครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน จังหวัดสุโขทัย

มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ