คลายล็อก "วัคซีนซิโนฟาร์ม” ครม.ไฟเขียวรัฐวิสาหกิจ จัดซื้อฉีดให้พนง.ทุกคน

09 พ.ย. 2564 | 07:47 น.

โฆษกรัฐบาล เผย มติครม.ล่าสุด เห็นชอบ เปิดทางให้รัฐวิสาหกิจ จัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม ฉีดให้ พนักงาน-ลูกจ้างในสังกัด ปี 2564 จำนวนกว่า 2.6 แสนคน

วันที่ 9 พ.ย.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ล่าสุดว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบกรณีให้รัฐวิสาหกิจ จัดซื้อหรือจัดหาวัคซีนโควิด 19 ยี่ห้อซิโนฟาร์ม ฉีดให้กับพนักงานและลูกจ้างได้

โดยมติครม. ดังกล่าวเป็นการเห็นชอบ การกำหนดเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 กรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมสามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ยี่ห้อซิโนฟาร์ม

จากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ

ตามระเบียบและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่องบประมาณและให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ซิโนฟาร์ม) จากรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งในปี 2564 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 58 แห่งและมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจรวมทั้งสิ้นจำนวน 261,464 คน

โดยในจำนวนนี้ มีรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาวัคซีนรวมทั้งสิ้น 40 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่แสดงความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 117,677 คน 

สำหรับอัตราค่าใช้จ่าย จะคำนวณจากราคาวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ตัวเลือก (ซิโนฟาร์ม) ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ซึ่งในปี 2564 กำหนดไว้จำนวน 2 เข็ม x จำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์ขอรับวัคซีน 117,677 คน

และในปี 2565-2568  จำนวน 2 เข็ม x จำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 ทั้งหมด 261,464 คน จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 58 แห่ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อผลักดันการเปิดประเทศ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความจำเป็น คุ้มค่า และประหยัด ซึ่งจะมีระบบการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อีกด้วย