ลอยกระทง 64 กทม.จัดงาน 2 จุดหลัก มีที่ไหนบ้าง เช็คที่นี่

07 พ.ย. 2564 | 12:29 น.

ประเพณีลอยกระทง 2564 กทม.เตรียมจัดงาน 2 พื้นที่หลัก และสวนสาธารณะ 30 แห่ง จะมีที่ไหนบ้าง เช็คข้อมูลทั้งหมดที่นี่

หลังจากรัฐบาลไฟเขียวให้สามารถจัดงานประเพณีลอยกระทง 2564 ได้ ล่าสุดกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมเพื่อจัดงานลอยกระทง ที่จะมีขึ้นใน วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564  ซึ่งการจัดงานและกิจกรรมต่างๆจะอยู่ภายใต้ COVID-Free Setting (มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร) และ Universal Prevention (การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล)

 

ทั้งนี้ กทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดงานประเพณีลอยกระทง โดยกำหนดจัดงาน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ 

  • บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด 
  • คลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร 
  • รวมทั้งจะเปิดพื้นที่สวนสาธารณะ 30 แห่งให้ลอยกระทงได้ 

 

กทม.เตรียมความพร้อมในการจัดงานประเพณีลอยกระทง คลองโอ่งอ่าง

 


 

พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เทศกาลวันลอยกระทงประจำปี 2564  ตรงกับวันที่ 19 พ.ย. 64 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้หน่วยงานสามารถจัดงานประเพณีลอยกระทง พ.ศ. 2564 เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่า 

 

 

"การจัดงานนั้นจะอยู่ภายใต้มาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน  เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน  โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัย  การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 การควบคุมการจำหน่ายและการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย รณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า รวมทั้งให้ประชาชนใช้วัสดุธรรมชาติในการทำกระทง เพื่อลดปริมาณขยะและช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" 

 

กทม.เตรียมความพร้อมในการจัดงานประเพณีลอยกระทง สะพานพระราม 8

 


พล.ต.อ.อัศวิน  กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของ กทม. ประจำปี 2564 โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสำนักการแพทย์ จัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ลาดตระเวนดูแลความพร้อมภัยตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.4 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 

 

ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 1 ลำ เรือเจ็ทสกี จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ.วชิระ จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ 


ช่วงที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานตากสิน (สะพานสาทร) ประกอบด้วยเรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เรือกู้ชีพ รพ. ตากสิน จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ 


ช่วงที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานสาทร) ถึง สะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ  เรือกู้ชีพ รพ.เจริญกรุง จำนวน 1 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ 

 

นอกจากนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้ 


1. จุดพื้นที่ลอยกระทง บริเวณสวนสาธารณะและริมคลอง เจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย พร้อมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง และถังดับเพลิง 


2. จุดอำนวยการร่วมฯ ตามที่ได้รับการประสานจากสำนักงานเขต จัดเจ้าหน้าที่จุดละ 5 นาย พร้อมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง และถังดับเพลิง จำนวน 5 ถัง 


3. จุดท่าเทียบเรือและโป๊ะ ตามที่ได้รับการประสานจากสำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ช่วยชีวิต เชือกช่วยชีวิต 

 

 

ในส่วนของโป๊ะและท่าเทียบเรือ จะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง มีความพร้อมในการใช้งาน หากพบชำรุดให้นำเชือกมากั้นและให้ติดป้ายห้ามใช้ ส่วนโป๊ะหรือท่าเรือที่สามารถใช้ได้ให้ติดป้ายแจ้งจำนวนประชาชนที่ท่าเรือหรือโป๊ะแต่ละแห่งสามารถรองรับได้ โดยจำกัดผู้ที่จะลงไปในท่าเรือหรือโป๊ะ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้เกิดความหนาแน่นจนเกินไป โดยกำชับให้สำนักงานเขตถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 

 

กทม.เตรียมความพร้อมในการจัดงานประเพณีลอยกระทง

 

ในส่วนของสำนักเทศกิจ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสังกัดสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่จัดงานลอยกระทง บริเวณคลองโอ่งอ่าง (3 วัน) จำนวน 150 นาย บริเวณสะพานพระราม 8 จำนวน 150 นาย รวมทั้งประจำจุดสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาลอยกระทง ท่าเทียบเรือ โป๊ะ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 1,500 นาย 

 

พร้อมจัดเตรียมเรือตรวจการณ์ ดูแล เฝ้าระวัง ไม่ให้มีการจำหน่ายและจุดประทัด เล่นดอกไม้ไฟ หรือพลุ ประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการตั้งวางจำหน่ายสินค้ากีดขวางบริเวณสถานที่จัดงาน ท่าน้ำที่เป็นจุดลอยกระทง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจสน.ท้องที่ ตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า อาสาสมัครมูลนิธิ ฯลฯ

 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไลโคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใด ที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง 

 

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจำหน่ายและห้ามเล่นเด็ดขาด คือประทัดจีน ทุกชนิด ประทัดรูปทรงกลม ประทัดไข่ ประทัดรูป สามเหลี่ยม และไดนาไมท์ หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ