ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มควรฉีดไฟซอร์-โมเดอร์นากระตุ้นหรือไม่ต้องอ่าน

07 พ.ย. 2564 | 06:09 น.

หมออนุตตรเผยข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนและระยะเวลาในการป้องกันโควิด-19 จากอังกฤษสำหรับผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มควรฉีดไฟซอร์หรือโมเดอร์นากระตุ้นเข็ม 3 หรือไหม่

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า 
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AZ) ครบ 2 เข็ม และกำลังตัดสินใจว่าจะรับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือไม่ ซึ่งตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขประกาศที่จะให้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (PZ) กระตุ้น  รวมทั้งบางคนจองวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (MD) ไว้  

วันนี้ขอสรุปรายงานจากเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนและระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนโควิด-19 (covid-19) จากประเทศอังกฤษ (Vaccine effectiveness and duration of protection of Comirnaty, Vaxzevria and Spikevax against mild and severe COVID-19 in the UK) ซึ่งเป็นรายงานก่อนการตีพิมพ์ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม และนำมาใช้เป็นข้อมูลให้หลาย ๆ ประเทศอ้างอิงในการพิจารณาให้วัคซีนเข็มกระตุ้น มาให้ทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจตามนี้

ประสิทธิผลต่อเชื้อเดลตาของประชากรทั้งหมด
ประสิทธิผลของวัคซีน AZ ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (Symptomatic illness) จากสายพันธุ์เดลตาในประชากรที่ทำการศึกษาทั้งหมดซึ่งมีอายุมากกว่า 16 ปี จะมีประสิทธิผลสูงสุดในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการได้รับเข็มที่ 2 แล้วจะค่อย ๆ ลดลง โดยประสิทธิผลจะลดลงเหลือ 47.3% หลัง 20 สัปดาห์ แต่ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะลดเหลือเพียง 36.6%

ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อที่ต้องนอนโรงพยาบาล (hospitalisation) ในประชากรทั้งหมด ลดลงเหลือ 77.0% หลัง 20 สัปดาห์ และในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีจะลดลงเหลือ 76.3% ใกล้เคียงกับประชากรทั้งหมด
ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการเสียชีวิตลดลงใน AZ เหลือ 78.7% หลัง 20 สัปดาห์ และในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีจะลดลงเหลือ 79.1% ใกล้เคียงกับประชากรทั้งหมด
การลดลงของประสิทธิผลจะลดลงมากในกลุ่มเปราะบางเช่นมีโรคเรื้อรังหรือมีภูมิต้านทานต่ำเมื่อเทียบกับผู้ที่แข็งแรงดี 

ประสิทธิผลต่อเดลตาในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
จากข้อมูลนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีน AZ ครบสองเข็มมานานกว่า 20 สัปดาห์ ยังป้องกันการป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตได้เกือบ 80% แต่ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าลดลงต่ำกว่า 50% ตามมาตฐานการยอมรับของ WHO จึงน่าจะได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ตอนนี้ในหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มที่จะให้กระตุ้นด้วยวัคซีน PZ หรือ MD เช่นกัน
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแวันที่ 28 ก.พ.- พ.ย. 64 มีการฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 80,221,553 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 43,914,118 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 33,719,280 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 2,588,155 ราย