“กรมราง” ประกาศปรับระบบให้บริการรถไฟ-รถไฟฟ้า คุมเข้มรับแผนเปิดประเทศ

29 ต.ค. 2564 | 09:26 น.

“กรมราง” ออกประกาศจัดระบบให้บริการรถไฟ-รถไฟฟ้า หลังศบค.เคาะแผนเปิดประเทศ ยกเลิกเคอร์ฟิว นำร่อง 17 จังหวัด คุมเข้มมาตรการเดินทางเข้าไทย-ข้ามจังหวัด

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร.ออกประกาศมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 13 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 (ฉบับที่ 36) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เกี่ยวกับการฟื้นฟูประเทศด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ ชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบเฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่) เชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง) ตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง) บุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์) ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก) พังงา เพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) ภูเก็ต ระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) เลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) สมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงันและเกาะเต่า) หนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ) และอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม) รวมทั้งยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องดังกล่าว โดยมีผลตั้งแต่เวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กรมการขนส่งทางรางหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางจึงออกประกาศมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานที่ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบถือปฏิบัติเพิ่มเติมจากฉบับก่อน รายละเอียดดังนี้

“กรมราง” ประกาศปรับระบบให้บริการรถไฟ-รถไฟฟ้า คุมเข้มรับแผนเปิดประเทศ

1. ให้หน่วยงานที่ให้บริการขนส่งทางรางทุกระบบจัดให้มีช่วงเวลาการบริการ เส้นทางและความถี่การให้บริการระบบรถไฟหรือรถไฟฟ้าภายในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวทั้ง 17 จังหวัดข้างต้นอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศ

 

 

2.ให้มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเข้มงวด โดยการตรวจเอกสารยืนยันการรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจโดยวิธี RT-PCR หรือ COVID-19 Antigen Test Self-Test Kits : ATK ยืนยันว่าไม่พบเชื้อโรคโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

 

 

2.1 กรณีได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจโดยวิธี RT-PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK ไม่พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ยังคงต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการในระบบหากมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อ ขอสงวนสิทธิ์การให้บริการและแนะนำให้ไปพบแพทย์หรือสาธารณสุขท้องที่

 

 

2.2 กรณีพบว่าไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และไม่มีผลตรวจโดยวิธี RT-PCR หรือ ATK หรือมีอาการเสี่ยงในการติดเชื้อตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือกระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ ขอสงวนสิทธิ์การให้บริการและให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องที่เพื่อดำเนินการตามมาตรการของกรมควบคุมโรคโดยเคร่งครัดต่อไป

 

 

3. กำกับดูแลควบคุมความจุในขบวนรถให้สอดคล้องเพียงพอกับความต้องการเดินทาง ของประชาชน ไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัด หรือบรรทุกผู้โดยสารเกินความจุ อันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ควบคู่กับมาตรการบริหารจัดการความหนาแน่นของผู้โดยสาร เช่น มาตรการ Group Release การเพิ่มความถี่การบริการหรือจัดขบวนรถเสริม ในช่วงเร่งด่วน เป็นต้น

“กรมราง” ประกาศปรับระบบให้บริการรถไฟ-รถไฟฟ้า คุมเข้มรับแผนเปิดประเทศ

4. จัดให้มีจุดบริการจำหน่ายชุดตรวจ ATK ภายในสถานีรถไฟที่เป็นต้นทางหรือใกล้กับด่านชายแดนระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวในการตรวจคัดกรองโรค

 

 

5. ให้มีการตรวจคัดกรองโรคด้วยชุดตรวจ ATK ทุก 7 วัน หรือตามความเหมาะสมแก่พนักงานผู้ให้บริการที่เข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High Risk Contact) ตามนิยามที่กระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

 

 

6. กรณีการให้บริการรถไฟข้ามจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขอความร่วมมือให้ การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.)ไทยเข้าประเมินตนเองด้วยแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2 Plus ได้ที่ shorturl.asia/KrTDB ตามแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุข มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) สำหรับขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัด ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด

 

 

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยกรมการขนส่งทางรางหวังว่าประกาศดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางต่อไป