ฉีดวัคซีนไขว้คาดสหรัฐอนุมัติสัปดาห์นี้-ภูมิคุ้มกันสูงกว่า 19 เท่า

20 ต.ค. 2564 | 01:27 น.

หมอเฉลิมชัยเผย อย.สหรัฐน่าจะอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนไขว้ให้คนอเมริกัน 15 ล้านคนภายในสัปดาห์นี้ สำหรับผู้ที่ฉีด Johnson&Johnson แล้ว 1 เข็ม

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
คาด อย.สหรัฐฯจะอนุมัติให้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ กระตุ้นคนอเมริกันกว่า 15 ล้านคนได้ในสัปดาห์นี้ เหตุเพราะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า 19 เท่า
การให้วัคซีนสูตรไขว้ หรือวัคซีนสลับ(Mixed and Matched)โดยเป็นการสลับบริษัท หรือสลับเทคโนโลยีนั้น
ได้มีการใช้มาแล้วในหลากหลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ( อาเซียน ตะวันออกกลาง ) และทวีปยุโรป ( เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน )
แต่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ยังไม่มีการประกาศอนุมัติอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ได้มีข่าวคราวบอกแนวโน้มว่า จะมีความเห็นชอบในการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ได้ เรียงลำดับกันได้แก่
เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯอนุมัติให้มีการฉีดกระตุ้น (Booster) ด้วยวัคซีน Pfizer ได้ และกำลังจะตามมาด้วย Moderna และ Johnson & Johnson
สัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานการศึกษาของ NIH ที่เสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาของอย.สหรัฐฯ พบว่า ในผู้ที่ฉีดวัคซีน Johnson&Johnson (JNJ)
แล้วกระตุ้นด้วย JNJ มีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น 4 เท่า
ถ้ากระตุ้นด้วย Pfizer มีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น 35 เท่า
ถ้ากระตุ้นด้วย Moderna มีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น 76 เท่า ซึ่งสูงกว่ากระตุ้นด้วย JNJ ถึง 19 เท่า

แม้การศึกษานี้ จะทำโดยกลุ่มตัวอย่างขนาดไม่มากนัก และเป็นการดูเฉพาะระดับภูมิคุ้มกัน ยังไม่ได้ดูเกี่ยวกับเรื่องอื่น
แต่ก็เป็นข้อมูล ที่ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอย.สหรัฐฯ ซึ่งจะประชุมกันในสัปดาห์นี้

มีแนวโน้มที่จะอนุมัติให้คนอเมริกันกว่า 15,000,000 คน ที่ฉีด JNJ แล้วหนึ่งเข็ม และจำเป็นจะต้องได้รับเข็มกระตุ้น
มีโอกาสที่จะได้รับการฉีดสูตรไขว้ ด้วย mRNA คือ Moderna หรือ Pfizer เพราะได้ภูมิคุ้มกันสูงกว่ามากทีเดียว
คงจะต้องรอติดตามข่าวกันต่อไป โดยเป็นอีกหนึ่งการศึกษา ที่ทำให้วัคซีนสูตรไขว้หรือการฉีดวัคซีนสลับ ได้รับการยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไขว้เพื่อป้องกันโควิด-19 (covid-19) แล้ว ประกอบด้วย
บาห์เรน ประกาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติต้องฉีดวัคซีนไม่ว่าฉีดวัคซีนตัวใดไปแล้วสามารถฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค หรือซิโนฟาร์มได้
ภูฏาน นายกรัฐมนตรีโลเทย์ เชอริง กล่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนว่า สะดวกใจกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรผสมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากร 700,000 คน 

คาดสหรัฐอนุมัติฉีดวัคซีนไขว้สัปดาห์นี้
แคนาดา คณะกรรมการที่ปรึกษาการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา แถลงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนว่า คนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก เข็มที่ 2 ควรฉีดตัวอื่น โดยไม่กี่วันก่อนหน้านั้นคณะกรรมการชุดนี้เคยแนะนำว่า คนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก อาจเลือกฉีดวัคซีนตัวอื่นเป็นเข็มสองก็ได้ ทั้งนี้ แคนาดาเปิดให้ใช้วัคซีนต่างชนิดเพราะความกังวลเรื่องลิ่มเลือดอุดตันเกี่ยวข้องกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า
จีน ข้อมูลเดือนเมษายน ระบุ นักวิจัยกำลังทดลองขั้นต้นในขนาดเล็ก เรื่องการฉีดวัคซีนไขว้ เข็มแรกเป็นวัคซีนแจกแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ ตามด้วยวัคซีนจากบริษัทในเครือฉงชิ่งจี้เฟย ไบโอโลจิคอลโปรดัคท์ 
ข้อมูลเดือนมิถุนาระบุ  นอกจากนี้นักวิจัยยังทดลองฉีดวัคซีนแคนซิโนไบโอเป็นเข็มกระตุ้น กับคนที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็นเข็ม 1หรือเข็ม 2 ด้วย

อินโดนีเซีย กำลังพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ฉีดซิโนแวคไปก่อนหน้านี้ หลังจากเจ้าหน้าที่หลายพันคนตรวจเจอโควิด-19 ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนแล้ว 
อิตาลี สำนักงานยาอิตาลี (เอไอเอฟเอ) ประกาศเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนว่า ประชาชนอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือที่รู้จักกันในนาม  Vaxzevria เป็นเข็มแรก สามารถฉีดวัคซีนตัวอื่นเป็นเข็มที่ 2 ได้
รัสเซีย กองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐ (อาร์ดีไอเอฟ) ประกาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนว่า รัสเซียอาจเริ่มทดลองใช้วัคซีนสปุตนิกวีสลับกับวัคซีนจีนหลายตัวที่ใช้ในประเทศอาหรับ หลังจากเคยทดลองทางคลินิกใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับสปุตนิกวีมาแล้ว ไม่เกิดผลข้างเคียงในทางลบ
เกาหลีใต้ ประกาศเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนว่า ประชาชนราว 760,000 คน ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก จะได้รับไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 เนื่องจากการส่งมอบวัคซีนตามโครงการโคแวกซ์ล่าช้า โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากโคแวกซ์ราว 835,000 โดสมีกำหนดมาถึงเกาหลีใต้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเกาหลีใต้วางแผนใช้เป็นวัคซีนหลักฉีดเข็มที่ 2 ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรด่านหน้าราว 760,000 คน ที่ฉีดเข็มแรกไปเมื่อเดือนเมษายน แต่การขนส่งล่าช้าไปถึงเดือน ก.ค.หรือช้ากว่านั้น ขณะเดียวกันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีก็ร่อยหรอ เพราะประชาชนออกมาฉีดวัคซีนกันมากเกินคาด ทำให้เกาหลีใต้บรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนครึ่งแรกได้ก่อนกำหนด

หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนไขว้
ไทย ประกาศเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ว่า จะใช้แอสตร้าเซนเนก้าฉีดเป็นเข็มสองให้กับคนที่ฉีดซิโนแวคเข็มแรก เพื่อเพิ่มการปกป้อง ความเคลื่อนไหวนี้เป็นการฉีดผสมระหว่างวัคซีนจีนกับวัคซีนตะวันตกครั้งแรกที่ประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ 
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ใช้วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค เป็นตัวกระตุ้นสำหรับคนที่ฉีดซิโนฟาร์มไปก่อน
ตัวแทนของ “มูบาดาลา เฮลธ์” ส่วนหนึ่งของกองทุนแห่งรัฐมูบาดาลา กล่าวว่า ประชาชนสามารถรับวัคซีนกระตุ้นเป็นคนละตัวกับที่ฉีดไปก่อนหน้าได้แล้วแต่จะตัดสินใจ แต่ไม่ใช่คำแนะนำของแพทย์
สำหรับยูเออีและบาห์เรนเริ่มต้นฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับพลเมืองและผู้มีถิ่นพำนัก แต่ต่อมาเปลี่ยนมาใช้วัคซีนตัวอื่น
ยูเออีใช้ซิโนฟาร์มฉีดให้ประชาชนทั่วไปในเดือนธันวาคม 63 แล้วเริ่มใช้ไฟเซอร์/ไบออนเทคในเดือนเมษายน และเพิ่งเปิดให้ฉีดซิโนฟาร์มเข็ม 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นอย่างน้อย หลังพบว่าบางคนฉีดซิโนฟาร์มไปแล้วไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ในกรุงอาบีดาบู ตัวแทนมูบาดาลาเฮลธ์เผยว่า วัคซีนกระตุ้นจะมีให้ภายใน 6 เดือน หลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว
เวียดนาม แถลงเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม ฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นเข็ม 2 ให้กับคนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว