กูรูชำแหละแผนดูดเงินจากบัญชี แนะวิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

18 ต.ค. 2564 | 03:55 น.

"ดร.ปริญญา หอมอเนก"กูรูด้านไซเบอร์ ชำแหละแผน "ดูดเงินจากบัญชี" ชี้ช่องโหว่าสถาบันการเงินเป็นไปได้ยาก พร้อมแนะวิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

เกาะติดประเด็นร้อน “ดูดเงินจากบัญชี” หลังจากที่มีผู้เสียหายหลายรายเจอปัญหาการผูกกับบัญชีธนาคาร "บัตรเครดิต"และ"บัตรเดบิต" แต่กลับถูกหักเงินแบบรัวๆ ตามรายงานข่าวบางรายยอดเงินถึงขั้นเต็มวงเงินบัตรเครดิต เเละผู้เจอเหตุการณ์แบบนี้จำนวนมาก จากหลักร้อยรายจนตอนนี้เกือบหลักหมื่นรายแล้ว

เรื่องนี้ ดร.ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เหตุการณ์ลักษณะดูดเงินจากบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต บัตรเดบิตเกิดขึ้นมา 5-6 ปีแล้ว

สาเหตุเกิดจากการที่ผู้ใช้บัตรเครดิต บัตรเดดิต นำไปผูกไว้กับแอพฯ ต่างๆ เพื่อใช้จ่ายหรือซื้อสินค้าออนไลน์หรือการรูดบัตรตามสถานที่ต่างๆที่ไปใช้บริการซื้อสินค้า เช่น ร้านอาหาร ปั้มน้ำมัน อาจเกิดช่องโหว่ทำให้บรรดาแฮกเกอร์หรือมิจฉาชีพนำข้อมูลเลขหน้าบัตรและหลังบัตรไปไปใช้ในทางไม่ชอบ

หรือนำข้อมูลไปขายบนเว็บไซต์มืดได้ ส่วนที่จะเกิดจากความผิดพลาดของสถาบันการเงินนั้นน่าจะเป็นไปได้ยากแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นแต่เนื่องจากข้อมูลปัจจุบันยังไม่พบความผิดพลาดดังกล่าว

“เหตุการณ์แบบนี้เกิด 5-6 ปีแล้ว ปกติคนเราใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต ทั้งในเว็บไทยและต่างประเทศ เวลาไปทานข้าว ซื้อของ เติมน้ำมัน ช่วงหลังก็ซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น อีกทั้งปัจจุบันมีการรับสเตทเม้นออนไลน์ ไม่ได้เป็นจดหมายที่เป็นกระดาษเหมือนเดิม อาจทำให้ผู้ใช้หลงลืม ไม่ตรวจเช็คความผิดปกติของทรานเซ็คชั่นต่างๆ ส่วนใหญ่ความเสียหายจะเกิดขึ้นครั้งละ  30-100 บาท มารู้ตัวทีหลังก็สูญเงินไปเป็นหลักพันบาท เเละต้องโทรไปที่ธนาคารเพื่อขอให้คัดยอด เคลียร์ยอดให้ ซึ่งใช้เวลา 3-4 สัปดาห์"ส่วนจะหลุดจากธนาคารเกิดขึ้นน้อย เพราะบัตรใหม่ยังไม่มีการเปิดใช้งาน รูดซื้อของ ค่อนข้างยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้"

ดร.ปริญญา ยังแนะนำแนวทางแก้ปัญหาว่า ว่า ควรแยกบัญชีเพื่อซื้อของแบบออนไลน์ จะมีเพียง 1 บัญชีธนาคารเท่านั้นที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการซื้อของออนไลน์ต่างๆ ผูกกับบัญชีธนาคารเพื่อจ่ายเงินซื้อสินค้า และจำกัดวงเงิน

หรือหากมีเวลาก็ทำให้บัญชีมีวงเงินเป็นศูนย์ไว้ตลอดเมื่อจะซื้อสินค้าก็ค่อยทำการโอนเงินเข้าบัญชีให้ระบบตัดเงิน หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะได้ไม่กระทบกับเงินของเราทั้งหมด ส่วนบัตรเครดิตก็ใช้วิธีการล็อคหรือจำกัดวงเงินไว้

ดร.ปริญญา ฝากว่า ขณะนี้ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ถึงอย่างไรผู้ใช้ก็จะต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ

“ระบบป้องกันในประเทศไทยดีขึ้น แต่เราก็ต้องระวังว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นซักวัน คิดว่าเราต้องอยู่กับมัน ยอมรับเสียหายได้แค่ไหน ก็จำกัดวงเงินอาไว้ หมั่นตรวจเช็คความผิดปกติของบัญชีการเงินอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดเหตุจะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที”