พายุ "คมปาซุ" ทำฝนตกหนักหลายพื้นที่ กรมชล เฝ้าระวังสถานการณ์ 24 ชม.

15 ต.ค. 2564 | 12:10 น.

กรมชล เผย อิทธิพลพายุโซนร้อน "คมปาซุ" ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้นและไหลลงสู่แม่น้ำต่าง ๆ ต่อเนื่อง เตือน ประชาชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและริมน้ำ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดช่วง 2 – 3 วันนี้

15 ตุลาคม 2564 จากอิทธิพลพายุโซนร้อน คมปาซุ ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสักในช่วงวันที่ 15 - 21 ตุลาคม 2564 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ว่า ได้ปรับการระบายน้ำในอัตราอยู่ระหว่าง 300 - 450 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมระดับน้ำเเละปริมาณน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพน้ำฝน-น้ำท่า ทั้งบริเวณเหนือเขื่อนและด้านท้ายเขื่อน

ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้น จะใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่างรับน้ำ ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำบางปะกงและทะเลอ่าวไทยตามลำดับ จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย สำหรับระดับน้ำในวันนี้ (15 ต.ค.2564) มีดังนี้

  • อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพิ่มขึ้น 63 เซนติเมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 8.24 เมตร)
  • อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพิ่มขึ้น 1.62 เมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 9.90 เมตร)
  • อ.เมือง จ.สระบุรี เพิ่มขึ้น 1.20 เมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 4.72 เมตร)อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 30 เซนติเมตร (ยังต่ำกว่าตลิ่ง 2.36 เมตร)

ด้านแม่น้ำลพบุรี ระดับน้ำที่ไหลผ่านในพื้นที่ อ.เมืองลพบุรี และ อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงเฉลี่ยวันละ 5 – 10 เซนติเมตร ขณะที่เขื่อนพระราม 6 ระบายน้ำในอัตรา 304 ลบ.ม./วินาที

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ระดับน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ มีดังนี้

  • อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,376 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 42 ลบ.ม./วินาที)

เขื่อนเจ้าพระยา ปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2,361 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 47 ลบ.ม./วินาที)

  • อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,276 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 11 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3 ซม.
  • จ.อ่างทอง ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,288 ลบ.ม./วินาที (ลดลง 7 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำลดลง 2 ซม.

ส่วนสถานการณ์น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ ต.พุคา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของทุ่งฝั่งตะวันออก ระดับน้ำลดลงกว่า 1.50 เมตร สามารถใช้เส้นทางสัญจรภายในหมู่บ้านได้แล้ว ขณะที่ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เกิดฝนตกหนัก และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม จะทำการเร่งระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง พร้อมเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและริมน้ำ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา