วัคซีนโควิดชนิดพ่นสัญชาติรัสเซีย "Sputnik V" เล็งทดลองกับผู้ใหญ่เดือน ต.ค.

14 ต.ค. 2564 | 03:11 น.

หมอเฉลิมชัยเผยวัคซีนโควิด-19 ชนิดพ่นสัญชาติรัสเซีย Sputnik V ทดลองแล้วในเด็ก 8-12 ปีช่วงเดือนมิถุนายน พร้อมเตรียมทดลองในผู้ใหญ่เดือนตุลาคม

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
น่าทึ่ง รัสเซียพัฒนา Sputnik V จากวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้าม เป็นชนิดพ่นจมูกสำเร็จ
หมอเฉลิมชัย ระบุว่า สถาบันวิจัยกามาเลย่า (Gamaleya) ของรัสเซีย ซึ่งได้ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด Sputnik V จนได้รับการอนุมัติให้ฉีดในประเทศรัสเซียเป็นตัวแรกของโลก (โดยที่ยังไม่ได้ทดลองเฟสสาม) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563
ขณะนี้ได้มีการประกาศความคืบหน้าครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งว่า วัคซีนดังกล่าวของรัสเซีย ได้พัฒนาจนกระทั่งใช้พ่นจมูกในเด็กอายุ 8-12 ปีได้ตั้งแต่มิถุนายน 2564 และในเดือนตุลาคม 2564 นี้ จะเริ่มทดลองในผู้ใหญ่ โดยการพ่นจมูกสองโดส   ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
สำหรับความเป็นมาของวัคซีน Sputnik V นี้คือ เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีไวรัสเป็นตัวนำ (Viral vector) เช่นเดียวกับวัคซีนของ AstraZeneca และ Johnson & Johnson
11 สิงหาคม 2563 รัสเซียประกาศให้ฉีดวัคซีน Sputnik V ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างกับประเทศตะวันตก ซึ่งจะประกาศเมื่อจบเฟสสามแล้ว แต่ของรัสเซียจบเฟสสองก็ประกาศเลย จึงนับเป็นวัคซีนโควิดชนิดฉีดตัวแรกของโลกอย่างไม่เป็นทางการ

ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีข่าวฮือฮาว่า ลูกสาวประธานาธิบดีปูติน ก็ได้เป็นอาสาสมัครในการฉีดวัคซีนดังกล่าวด้วย
4 กันยายน 2563 ตีพิมพ์งานวิจัยเฟสสอง
11 พฤศจิกายน 2563 รายงานผลเบื้องต้นของการวิจัยเฟส 3
มกราคม 2564 ประกาศความสำเร็จของการฉีดเข็มเดียว ที่เรียกว่า สปุกนิกไลท์ (Sputnik Light) โดยใช้ Adenovirus เบอร์ 26
2 กุมภาพันธ์ 2564 รัสเซียทำให้ข้อสงสัยและความคลางแคลงใจของนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกหายไป เมื่องานวิจัยของรัสเซีย ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ชั้นนำของโลกตะวันตกคือ Lancet และพบว่ามีระเบียบวิธีวิจัย และการเก็บข้อมูลที่ดีมาก ตลอดจนมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูงถึง 91.6% โดยมีผลข้างเคียงน้อย

Sputnik V จากวัคซีนชนิดฉีดเป็นชนิดพ่นจมูก
มิถุนายน 2564 ได้ใช้วัคซีนชนิดฉีดปรับปรุงพัฒนาเป็นพ่นจมูกในเด็กอายุ 8-12 ปี และพบว่าไม่มีผลข้างเคียงที่แตกต่างไปจากชนิดฉีด
8 กรกฎาคม 2564 ได้ทดลองวัคซีนชนิดฉีดในเด็กอายุ 12-17 ปี
12 ตุลาคม 2564 แถลงว่าจะทดลองในผู้ใหญ่ ก่อนที่จะประกาศความสำเร็จในปลายปีนี้ต่อไป
ขณะนี้รัสเซียอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคค่อนข้างสูง โดยพบผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จำนวน 7.86 ล้านคน เสียชีวิต 2.19 แสนคน และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มรายวันสูงมากถึง 28,717 คน
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 (covid-19) ชนิดพ่น พบว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาในหลากหลายประเทศ เช่น
ในประเทศไทยก็กำลังวิจัยและทดลองผลิตวัคซีนโควิด แบบพ่นจมูกและปาก เช่นกัน โดย สวทช. ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) แบบพ่นจมูก ออกมาได้สำเร็จ ซึ่งผ่านการทดสอบในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้น   

วัคซีนชนิด Adenovirus 
มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ ออกแบบโดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอย มีการทดสอบในหนูทดลองที่ฉีดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว พบว่า หนูทดลองนอกจากไม่มีอาการป่วย ยังมีน้ำหนักขึ้นสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามอย่างเห็นได้ชัด ผลการทดสอบความปลอดภัยไม่มีปัญหา และกำลังจะทดสอบวัคซีนนี้ในอาสาสมัครมนุษย์ในรูปแบบที่สร้างจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา ในเร็วๆ นี้
วัคซีนชนิด Influenza virus 
มีการแสดงออกของโปรตีน RBD ของสไปค์ ตัวนี้กำลังต่อคิวทดสอบประสิทธิภาพการคุ้มโรคโควิด-19 และได้ทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยการทดลองทั้งแบบพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอยและแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งในรูปแบบแอนติบอดี และ Tcell ได้สูง เช่นเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564 นี้ และต่อเนื่องเฟส 2 ในเดือนมีนาคม 2565 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี 2565 นี้
ขณะที่ ปักกิ่ง ว่านไท่ ไบโอโลจิคัล ฟาร์มาซี (Beijing Wantai Biological Pharmacy) บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนของจีน วางแผนเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูกในกลุ่มอาสาสมัครขนาดใหญ่ โดยตั้งเป้ารับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองวัยผู้ใหญ่ 40,000 คนในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 และผู้เข้าร่วมจะได้รับวัคซีนโควิดแบบพ่นจมูก 2 โดสที่บริษัทพัฒนาขึ้น หรือได้รับวัคซีนที่เป็นยาหลอก โดยเว้นระยะห่างระหว่างโดสแรกกับโดสสองเป็นเวลา 2 สัปดาห์