“นิพนธ์”ย้ำ 3 เรื่องเร่งฉีดวัคซีนเมืองท่องเที่ยว-แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

28 ก.ย. 2564 | 14:25 น.

“นิพนธ์”ย้ำ 3 เรื่องหลัก เร่งฉีดวัคซีนเมืองท่องเที่ยว - บริหารจัดการน้ำแก้อุทกภัย-ภัยแล้ง พร้อมเร่งรัดฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ได้รับผลกระทบ - ลดสถิติการสูญเสียบนท้องถนน แก่ผู้บริหารมหาดไทย เตรียมพร้อมก่อนเริ่มปีงบ 65

วันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุมประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญ  พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม


นายนิพนธ์ กล่าวว่า การเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว การผ่อนปรนมาตราการการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการวัคซีนอยากให้เน้นการฉีดในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรองรับนักท่องเที่ยว 


เช่น ผู้ให้บริการโรงแรม ขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร เป็นต้น ให้สำรวจกลุ่มคนกลุ่มนี้ ถ้าสามารถดูแลป้องกันก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมโรค โดยไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 จากนักท่องเที่ยวมาสู่ประชาชน ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต้องไม่ได้รับเชื้อจากประชาชนด้วย

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ช่วงนี้ประเทศไทย เราได้มีบทเรียนหลายครั้ง โดยเฉพาะอุทกภัยปีที่ผ่านมาอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” อยากให้ทำความเข้าใจและแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียชีวิต 

สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่จะรักษาชีวิตประชาชนไว้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ขอให้ถอดบทเรียนจากครั้งที่แล้วที่เกิด “พายุโพดุล” ต้องมีการเตรียมแผนตามที่จะเผชิญเหตุไว้ การเตรียมการที่ดีตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุ การแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามเหตุข่าวสารข้อมูลให้ความร่วมมือกับทางราชการ เพื่อที่จะดูแลชีวิตและความปลอดภัยของประชาขนเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย 


การถอดบทเรียนจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ทำให้รู้ว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถรับมือสถานการณ์ได้ดี โดยเฉพาะเรื่องการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสามารถทำได้ทันท่วงที ทำให้ภัยพิบัติครั้งนี้สูญเสียทรัพย์สินและชีวิตไม่มากเท่ากับครั้งก่อนๆ 


 

การให้ข้อมูลข่าวสาร แจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานภาครัฐที่ทันสถานการณ์ ทำให้ลดการเกิดความเสียหายและสูญเสียได้ 


นอกจากนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชน ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พายุอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ภาคใต้จะเริ่มเข้าสู่มรสุมในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งขุดลอกคูคลอง 


รวมทั้งการพร่องน้ำในคูคลองและอ่างเก็บน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ มาตรการต่างๆไว้คอยเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 


ขณะเดียวกันก็ให้มีการเร่งรัดการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนเข้าสู่ปกติโดยเร็ว รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังฯให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย 

    

นายนิพนธ์  ยังกล่าวฝากถึงความปลอดภัยทางถนน ที่ยังเป็นภัยคุกคามพี่น้องประชาชน  เพราะเส้นทางถนน 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็ล้วนอยู่ในการดูแลของท้องถิ่น 


โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนหลัง ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564 หลัง ศบค.ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางช่วงโควิด-19 ทำให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุให้ได้ ตามกรอบแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่ได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน 


โดยบูรณาการร่วมกับจังหวัดและทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถ ลดความสูญเสีย และผลกระทบ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ได้อย่างแท้จริง