วันธงชาติไทย (Thai National Flag Day) ครบรอบ 104 ปี

28 ก.ย. 2564 | 06:46 น.

วันธงชาติไทย (Thai National Flag Day) ครบรอบ 104 ปี ฐานเศรษฐกิจชวนทำความรู้จักความเป็นมาเเละความสำคัญของวันนี้

วันที่ 28 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติ "วันพระราชทานธงชาติไทย" ธงชาติถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2559 ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่  28 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) ในปีนี้ถือเป็นปีที่ครบรอบ 104 ปี

ถือเป็นวันที่ระลึกในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460

วันธงชาติไทย  (Thai National Flag Day) ครบรอบ 104 ปี

โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากมีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460  กระทั่งเป็น “ธงไตรรงค์” สีแดง ขาว น้ำเงิน ในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2560 เป็นปีแรกที่รัฐบาลประกาศให้มีกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทยครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 28 กันยายน ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และมีนิทรรศการวันพระราชทานธงชาติไทย ชื่อว่า "100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ"

ประวัติธงชาติไทย

ธงชาติไทยผืนแรกถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ในการค้าขายทางเรือในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นธงผ้าสีแดงเกลี้ยง

ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ มีธงพื้นแดงที่มีรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งผืน ซึ่งธงชาติผืนนี้จะใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น และยังคงใช้ต่อไปจนถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในยุคนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงธงเรือหลวงเพิ่มขึ้นด้วยการนำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักร จึงนับว่าธงชาติไทยผืนที่ 3 คือธงพื้นแดง มีรูปจักรและช้างเผือกอยู่ตรงกึ่งกลาง

กระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำหนังสือสัญญาค้าขายกับชาวตะวันตกในปี พ.ศ. 2398 พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริให้ใช้ธงเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดเกล้าฯให้นำเอารูปจักรออก คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง

และยกเลิกการใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอีกต่อไป จนถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทย โดยเปลี่ยนให้ใช้ธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา และออกประกาศบังคับใช้ธงชาติผืนนี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2459 เป็นต้นไป

ปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้ง โดยเป็นธงพื้นริ้วขาว แดง ซึ่งธงในปี พ.ศ. 2460 ก็คือธงไตรรงค์ที่เราใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 – ปัจจุบัน)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2460 เพื่อเพิ่มความก้าวหน้า และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้ายกับธงชาติของประเทศอื่น ๆ คือ มี 3 สี ธงชาติไทยจึงเปลี่ยนเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี มีแถบสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง เรียงกันลงไป โดยแถบสีแดงและสีขาวมีขนาดเท่ากัน ส่วนแถบสีน้ำเงินจะมีขนาดใหญ่กว่าสีทั้งสอง 1 ส่วน

ปี พ.ศ. 2479 สมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โปรดเกล้าโปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่

ธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ออกไปทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดง

ลักษณะของธงชาติไทยในปัจจุบันปรากฏตามความในหมวด 1 มาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดไว้ว่า ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ ตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน 

ความหมายของธงชาติไทย

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ในปัจจุบัน เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้งสองข้าง เป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน

 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนด

ความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เครื่องหมาย

แห่งไตรรงค์ ไว้ว่า

สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ

สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักค าสอนทางพระพุทธศาสนา

สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์

 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดความสับสนกับต่างประเทศและจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธงชาติบ่อย ๆ จึงได้กำหนด ความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจน แต่ก็ครอบคลุมอุดมการณ์เดิมของรัชกาลที่ 6 เอาไว้ด้วย ดังนี้

 สีแดง หมายถึง ชาติ (ประชาชน)

 สีขาว หมายถึง ศาสนา (ไม่ได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ)

 สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

ซึ่งความหมายนี้ ก็ใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้สำนักนายกรัฐมนตรี เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ร่วมจัดกิจกรรมประดับธงชาติไทยตามอาคารสถานที่ราชการ สถานศึกษาและบ้านเรือน สำหรับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะร่วมกันจัดกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติพร้อมกัน ในวันที่ 28 ก.ย. 2564 เวลา 08.00 น. 

ที่บริเวณเสาธงชาติของหน่วยงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่และผู้เชิญธงชาติ ร่วมงานไม่เกิน 12 คน และดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด