เปิดข้อมูล วัคซีนโควิดเด็กกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีน mRNA

22 ก.ย. 2564 | 10:00 น.

วัคซีนโควิดไฟเซอร์ล็อตเเรถจะถึงไทย 29 ก.ย.นี้ เล็งฉีดให้เด็กตามความสมัคร หลายคนอาจลังเลใจ เพราะทราบว่ามีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการรับวัคซีนได้

วันนี้  22 ก.ย.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนโควิดไฟเซอร์ล็อตแรกจะถึงไทย 29 ก.ย.นี้

โดยจะฉีดวัคซีนโควิดในเด็กไม่บังคับ เพราะเป็นเรื่องของความสมัครใจผู้ปกครอง และวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดหา ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาอนุมัติแค่ไฟเซอร์ฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จากนั้นจะทยอยมาจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.

“เด็กควรต้องได้เรียนหนังสือในโรงเรียน เพียงแต่ว่าการรับวัคซีนในเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง การนำวัคซีนของไทย ไม่ใช่นำเข้ามาเพราะเป็นวัคซีน mRNA แต่นำเข้าเพราะว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ซึ่งจำนวนเด็กที่คาดว่าต้องได้รับวัคซีนมีต่ำกว่า 5 ล้านคน”

พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิดโดยอ้างรายงาน CDC

โดยระบุว่า น่าจะมีวัคซีนโควิดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจะมีวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม mRNA ได้แก่ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา โดยรัฐบาลจัดสรรวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ให้กับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ถึง 18 ปี

ส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาก็จัดเป็นวัคซีนทางเลือกซึ่งบริหารจัดการโดยโรงพยาบาลเอกชน หลายคนยังลังเลใจที่จะใช้วัคซีน mRNA เนื่องจากทราบว่ามีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการรับวัคซีนชนิดดังกล่าว

ขอนำเรื่องนี้จากข้อมูลในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้วัคซีน mRNA มากที่สุด  โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) 

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้รับการยอมรับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่หายากของวัคซีน mRNA จากรายงานของ CDC

พบอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อบุหัวใจอักเสบ 12.6 รายต่อล้านของการได้รับวัคซีน mRNA เข็มที่สอง ในผู้ที่มีอายุ 12 ถึง 39 ปี 

โดยพบว่าเด็กอายุ 12-15 ปีมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงกว่ากลุ่มอื่นถึง 4 เท่า  ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักมีอาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยหอบเกิดขึ้น 2-3 วัน หลังได้รับวัคซีน mRNA เข็มที่ 2

โดยจะพบมีคลื่นหัวใจผิดปกติ ระดับเอนไซม์ของหัวใจ (Troponin-T) เพิ่มขึ้น การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทำได้ด้วยการตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ (MRI)

กลไกการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติที่มีอยู่ก่อนแล้วในบุคคลบางกลุ่ม 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งเชื่อว่าที่พบมากในผู้ชายน่าจะเกี่ยวข้องกับความแตกต่างของฮอร์โมนเพศกับการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน 

โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นเร็วหลังจากให้การรักษาและพักผ่อนอย่างเพียงพอ และส่วนใหญ่สามารถกลับไปเรียนหรือทำงานตามปกติได้ในเวลาไม่นาน

หากเปรียบเทียบความเสี่ยงกับประโยชน์ที่ได้รับจากการรับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA แล้ว ประโยชน์ที่ได้รับในการป้องกันโรคและลดการเจ็บป่วยกับการเสียชีวิตจากโควิดจะสูงกว่าการเกิดหัวใจอักเสบมาก 

และมีการศึกษา phase 3 ของวัคซีน mRNA รายงานถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าวในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12-17 ปี ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่นยังไม่มีการรายงานผลในกลุ่มนี้ 

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญของ CDC จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป แต่ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ ภายใน 1 สัปดาห์ หลังการได้รับวัคซีนดังกล่าวต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลรักษาโดยเร็ว