Pfizer ประสิทธิผลเหลือ 69.7% ในการป้องกันไวรัสเดลตา -AstraZeneca เหลือ 47.3%

16 ก.ย. 2564 | 01:41 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลผลวิจัยจากประเทสอังกฤษพบฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มยี่ห้อ Pfizer ประสิทธิผลลดเหลือ 69.7% ในการป้องกันไวรัสเดลตา ขณะที่ AstraZeneca เหลือ 47.3%

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ชาวอังกฤษกว่า 3.3 ล้านคน ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสเดลตาลดลง ฉีด Pfizer เหลือ 69.7%  AstraZeneca เหลือ 47.3%
การเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด แบ่งได้ออกเป็นสองช่วงระยะเวลา ได้แก่
1.ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นในระหว่างการทดลองในอาสาสมัครโดยเฉพาะเฟสสาม เรียกว่า Efficacy
2.ระสิทธิผลในการฉีดวัคซีนหลังได้จดทะเบียนอนุมัติให้ฉีดในโลกแห่งความเป็นจริง( Real World ) เรียกว่า Effectiveness โดยประสิทธิผลที่น่าเชื่อถือมากกว่าคือ Effectiveness หรือประสิทธิผลของการฉีดในโลกแห่งความเป็นจริง
วัคซีนป้องกันโควิด 2 ตัวหลัก จาก 2 เทคโนโลยีคือ
1.AstraZeneca ใช้เทคโนโลยีไวรัสเป็นตัวนำ (Viral vector)
2.Pfizer ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)
Efficacy หรือประสิทธิผลการป้องกันโรคในอาสาสมัคร มีความแตกต่างกับ Effectiveness หรือประสิทธิผลการป้องกันโรคในโลกแห่งความเป็นจริงมาก และเมื่อเริ่มมีการฉีดวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริง ก็มีหลากหลายรายงาน ที่มีประสิทธิผลแตกต่างกันเช่น

ที่สกอตแลนด์ จากการฉีดประชาชนกว่า 1 ล้านคน พบว่าวัคซีน AstraZeneca และ Pfizer มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคในโลกแห่งความจริงจริงเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา พบว่าไวรัสดังกล่าว ทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีนทุกชนิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แตกต่างไปจากไวรัสสายพันธุ์อัลฟา

ประเทศอังกฤษ จึงได้เก็บข้อมูลและทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบตั้งแต่ช่วง 8 ธ.ค. 63 ถึง 3 ก.ย. 64
ซึ่งมีทั้งช่วงไวรัสอัลฟาคือ ก่อนพฤษภาคม 2564 และช่วงไวรัสเดลตาคือ หลัง 12 เมษายน 2564

ไฟเซอร์ประสิทธิผลลดลงเหลือ 69.7% เมื่อเจอไวรัสเดลตา
ในที่นี้จะนำข้อมูลมาเปรียบเทียบในช่วงเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก
พบว่าในคนอังกฤษ 3.3 ล้านคน มีการตรวจหาเชื้อทั้งสิ้น 3.76 ล้านตัวอย่าง
แยกเป็นฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 ล้าน และ Pfizer 1.7 ล้าน มี Moderna เข้ามาแทรกเล็กน้อย 1.2 แสน
โดยแยกวิเคราะห์ออกเป็นสามกรณีคือ
1.ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ
Pfizer ได้ 69.7% 
AstraZeneca ได้ 47.3%
2.ประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาล
Pfizer ได้ 92.7% 
AstraZeneca ได้ 77.0%

 AstraZeneca ประสิทธิผลลดเหลือเหลือ 47.3% เมื่อเจอไวรัสเดลตา
3.ประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิต
Pfizer ได้ 90.4% 
AstraZeneca ได้ 78.7%
โดยการดูประสิทธิผลนั้น ดูที่ห้าเดือนหรือ 20 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนครบสองเข็ม

ทำให้สรุปได้ดังนี้
1.ไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีนทั้ง Pfizer และ AstraZeneca ลดลงอย่างมาก
2.ประสิทธิผลต่อการติดเชื้อชนิดแสดงอาการ ลดลงมากที่สุด
3.ประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต ลดลงน้อยกว่า
4.Pfizer มีประสิทธิผลในภาพรวมสูงกว่า AstraZeneca
5.ประสิทธิผลดังกล่าว กระทบกับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี  มากกว่าคนที่อายุตั้งแต่ 64 ปีลงมา
คงจะต้องดูรายงานอื่นๆประกอบไปด้วยในอนาคต แต่ในเบื้องต้น รายงานฉบับนี้ซึ่งฉีดในคน 3.3 ล้านคน ก็มีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากการรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-13 ก.ย. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 41,647,101 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 27,769,095 ราย ฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 13,260,456 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 617,550 ราย