ถอดบทเรียน 3 มาตรการคุมโควิดจีน ประเทศแรกในโลกคุมไวรัสสายพันธุ์เดลตาอยู่

25 ส.ค. 2564 | 02:51 น.

หมอเฉลิมชัยชี้จีนเป็นประเทศแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จสามารถคุมการระบาดที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ ระบุใช้ 3 มาตรการเข้มพร้อมกัน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
จีนเป็นประเทศแรกในโลก ที่ประสบความสำเร็จสามารถคุมการระบาดที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์
นับจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จีนพบเคสไวรัสสายพันธุ์เดลตาในพนักงาน 9 คนที่ทำความสะอาดเครื่องบินที่เมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู โดยเป็นสายการบินที่เดินทางมาจากประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564
หลังจากนั้นเคสของโควิดสายพันธุ์เดลตา ก็กระจายไปตามเมืองต่างๆกว่า 50 เมือง ใน 17 มณฑลหรือกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศจีน รวมทั้งเมืองอู่ฮั่น และปักกิ่ง พบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1200 คน
วันที่ 24 ส.ค. 2564 จีนประกาศว่า สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสเดลตาได้แล้ว ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ มีแต่การติดเชื้อในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น
จีนใช้มาตรการอะไรบ้างในการที่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดกว้างขวางรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่นกว่าหนึ่งเท่าตัว เสร็จเรียบร้อยภายในหนึ่งเดือน
มาตรการที่ใช้ประกอบด้วย
1.ประกาศใช้มาตรการเข้มข้นที่รวดเร็วและทันที ( Early localised lockdown) ไม่รอการประเมินสถานการณ์ให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเสียก่อน โดยมาตรการดังกล่าว รวมไปถึงการระงับการเดินทาง ขนส่งสาธารณะ การห้ามออกนอกเคหะสถาน และการปิดกิจการต่างๆที่มีการรวมคนเป็นจำนวนมาก (Strict Quarantine)

2.ตรวจเชิงรุกแบบกว้างขวางรวดเร็ว และทำซ้ำหลายครั้ง ( Mass Testing) เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ ในบางเมืองอาจต้องตรวจถึง 100 ล้านตัวอย่าง โดยที่ใช้เทคนิคการตรวจแบบรวมกัน 10:1 คือ รวมตัวอย่าง 10 รายมาตรวจหนึ่งทดสอบเสียก่อน เมื่อตรวจพบผลบวกที่กลุ่มตัวอย่างไหน จึงค่อยตรวจรายละเอียด 10 รายในตัวอย่างนั้นอีกครั้งหนึ่ง สำหรับประชากร 9 ล้านคน ก็ตรวจเพียง 9 แสนตัวอย่าง
3.การเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด โดยที่ทางการจีนใช้วัคซีนที่ตนเองวิจัยพัฒนาขึ้นเองทั้งหมด เป็นวัคซีนเชื้อตายของบริษัทเอกชน Sinovac (ซิโนแวค) และรัฐวิสาหกิจ Sinopharm (ซิโนฟาร์ม)

 น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
มีตัวอย่างหลายประเทศที่ได้ใช้มาตรการบางอย่างใน 3 มาตรการดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ครบพร้อมกันในประเทศเดียวกัน และห้วงเวลาเดียวกัน ทำให้ควบคุมการระบาดของไวรัสเดลตาได้ไม่ดีนัก เช่น
อิสราเอล ใช้มาตรการฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยวัคซีน Pfizer แต่การล็อกดาวน์ไม่ได้ทำในปัจจุบันนี้ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มอีกครั้ง
ออสเตรเลีย ใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายครั้งและรวดเร็ว แต่การฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมประชากรจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็คุมการระบาดได้ไม่ดีนัก
สหรัฐอเมริกา ฉีดวัคซีนครอบคลุม ประชากรได้เป็นจำนวนกว่าครึ่งประเทศ แต่ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและเหมาะสม จึงมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
นิวซีแลนด์ มีผู้ฉีดวัคซีนจำนวนน้อย แต่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่รวดเร็วทันที ก็ทำให้เชื้อไม่แพร่ระบาดมาก แต่ยังควบคุมได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
จากกรณีของประเทศจีน และประเทศต่างๆดังกล่าวข้างต้น จึงพอจะเห็นได้ว่า การจะคุมการระบาดของโควิดโดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา จำเป็นจะต้องทำพร้อมกันหลายมาตรการ อย่างน้อยคือสามประการดังกล่าวข้างต้น

ซึ่งประเทศจีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ว่าคุมการระบาดได้ดี ในการระบาดครั้งใหม่ล่าสุดที่เป็นไวรัสสายพันธุ์เดลตาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2564 โดยใช้มาตราการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ประกาศล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและทันทีตอนที่มีการระบาดใหม่ๆ แม้มีผลกระทบกับภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง แต่สุดท้าย มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจก็กลับมาดำเนินการได้ หลังจากที่ล็อกดาวน์คุมการระบาดได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผลเสียหายอาจพบน้อยกว่าการประคับประคองเศรษฐกิจและสังคมไว้ แต่โรคระบาดควบคุมได้ไม่เรียบร้อยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

จีนเป็นประเทศแรกในโลกที่คุมสายพันธุ์เดลตาอยู่
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขล่าสุด พบ เดลสายพันธุ์ย่อย 4 ตัวในประเทศ จากการเปิดเผยของ ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้อธิบายการพบสายพันธุ์ย่อยเดลต้าในครั้งนี้ว่า เกิดจากการสุ่มถอดรหัสพันธุ์กรรม ทั้ง จีโนม (SARS-CoV-2 whole genome sequencing 30,000 bp) เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 จากตัวอย่างที่ส่งมาทั่วประเทศซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี และ กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI)
โดยข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของตัวอย่างทั้งหมดที่ถอดได้นั้นถูกอัพโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ  GISAID  เพื่อให้ประเทศต่างๆได้ร่วมกันใช้ประโยชน์เพื่อการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งจากการวิเคราะห์สัดส่วนของโควิดกลายพันธุ์ในประเทศไทย พบว่า สายพันธุ์ย่อยของเดลตา  4 ตัว ดังนี้  
1.AY.4 หรือ B.1.617.2.4 ช่วงที่พบเดือน มิ.ย.-ส.ค. ในพื้นที่ ปทุมธานี 4  ราย บุรีรัมย์ 1 ราย กำแพงเพชร 1 ราย เชียงใหม่ 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ชลบุรี 1 ราย
2.AY.6 หรือ B.1.617.2.6 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม. 1 ราย
3.Y.10 หรือ B.1.617.2.10 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม.1 ราย
4.AY.12 หรือ B.1.617.2.15 ช่วงที่พบเดือน ก.ค.-ส.ค. ในพื้นที่ กทม. (พญาไท) 1 ราย สุราษฎร์ธานี  2 ราย