“วรวุฒิ อุ่นใจ”แนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวสู่ตลาดใหม่ “ออมนิแชลแนล”

24 ส.ค. 2564 | 07:29 น.

“วรวุฒิ อุ่นใจ”แนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายใหญ่ ปรับตัวสู่การตลาดใหม่ “ออมนิแชลแนล” ชี้ต้องทำให้ได้ภายใน 3-5 ปี ก่อนที่จีนจะมาตั้งฐานที่มั่น ถึงเวลานั้นสู้ยังไงก็ไม่ชนะ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ก่อตั้งออฟฟิศเมท อดีตซีอีโอ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็น รองหัวหน้าพรรคกล้า เข้าร่วมเป็นวิทยากร ในการสัมมนา Online business opportunities : สร้างโอกาสทางธุรกิจ ปั้นผู้ประกอบการสินค้าไทยให้ดีพร้อม จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

 

นายวรวุฒิ กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคโควิด 19 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่บังคับให้เราต้องนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันการเดินทางระหว่างประเทศก็ไม่มี ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัวแบบ 360 องศา ถ้าองศาไหนที่มองแล้วว่ามันดีและไปได้ก็ต้องไป

 

นายวรวุฒิ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีประสบการณ์การทำงานทั้งแบบ บีทูบี บีทูซี และบีทูจี โดยเมื่อแรกตั้งออฟฟิศเมท เราจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มออฟฟิศ องค์กร และหน่วยงานราชการ ส่วนบีทูซี คือกลุ่มลูกทั่วไปที่มาพัฒนาทีหลัง เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายรายก็มีกลุ่มลูกค้าในลักษณะเดียวกันนี้อยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตามในภาวะที่ลูกค้าหายาก จำเป็นต้องขยายตลาดไปยังจุดที่เราไม่เคยทำ ซึ่งในปัจจุบันโอกาสทางตลาดที่น่าสนใจและกำลังมาแรงคือ "Omni Channel" เป็นช่องทางการสื่อสารและบริการลูกค้าที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งแบบออฟไลน์ หรือแบบค้าปลีก และออนไลน์ ซึ่งช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดเอาไว้ เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น ลูกค้าคือใครและสนใจสินค้าประเภทไหน

                      “วรวุฒิ อุ่นใจ”แนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวสู่ตลาดใหม่ “ออมนิแชลแนล”

“สิ่งที่ยากกับการทำตลาด Omni Channel คือ ต้องมีระบบบริหารจัดการข้อมูล ที่เชื่อมต่อกันแบบแบบไร้รอยต่อ พูดง่าย ๆ คือ ในอนาคลูกค้าจะซื้อแบบรีเทลก็ได้ หรือจะซื้อออนไลน์ก็ได้ แต่การเปลี่ยนคืนสินค้า ต้องสามารถทำได้ในทุกระบบ เช่น ซื้ออนไลน์ มาเปลี่ยนหน้าร้านได้ หรือซื้อหน้าร้านก็สามารถเปลี่ยนช่องทางออนไลน์ได้

 

ข้อดีของตลาดแบบนี้คือ เปิด 24 ชม. วิธีนี้มันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเทรดดิ้ง และคนที่ทำตลาดแบบนี้ได้ดีที่สุดคือ อาลีบาบา แพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งที่สุดของจีน ถามว่าบ้านเราทำได้ไหม ก็ต้องบอกว่าทำได้ และต้องเร่งทำ แต่ความยากอยู่ที่ระบบปฏิบัติการและตัวฐานข้อมูล ต้องซิงค์และเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ ปัจจุบันยังไม่มีใครทำได้ดีเท่าจีน

 

ดังนั้น หากเราไม่เร่งพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน 3 - 5 ปี หลังโควิด โอกาสที่จีนจะเข้ามาตีตลาดเป็นไปได้สูง และเมื่อถึงเวลานั้น เราจะไม่สามารถสู้เขาได้ ทั้งความพร้อมเรื่องโลจิสติกส์ ฐานข้อมูล ระบบเอไอ ที่คำนวณพฤติกรรมผู้บริโภค จีนเขานำเราไปมาก

 

เวลานี้ผู้ประกอบการรายใหญ่และห้างดัง ๆ ส่วนใหญ่ก็ปรับตัวมาใช้ระบบนี้กันมากขึ้น แต่มันไม่ง่ายที่จะทำให้เสร็จในชั่วข้ามวัน ข้ามเดือน เนื่องจากต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างสาขาและระหว่างแชลแนล ที่สำคัญลงทุนสูง แต่ที่น่าสนใจคือ เอสเอ็มอี จะทำได้ง่ายกว่า ด้วยความเล็กมีความยืดหยุ่นสูงระบบการคอนโทรลไม่ซับซ้อนมากนัก” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ ยังกล่าวถึงสินค้าที่โมเดิร์นเทรดต้องการ ว่า ก็ต้องดูว่าสินค้าที่มีความต้องการสูงในเวลานั้นคืออะไร ซึ่งเชื่อว่าทุกห้างก็หากันอยู่แล้ว แต่ถ้าสินค้าเหมือนกันโอกาสเลือกมันก็จะน้อย ที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเอสเอ็มอีคือ เรื่องของดีไซน์แพคเกจจิ้ง สินค้าหลายตัวเป็นสินค้าที่ดีมาก แต่การตลาดสู้แบรนด์ดังไม่ได้ ทั้งการออกแบบแพคเกจ รวมถึงการออกแบบโปรโมชั่น เช่น ปัจจุบัน สินค้ากลุ่ม อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่มีความต้องการทางการตลาดสูง และการขายของแบบ Multi pack ก็จะเป็นที่นิยมเพราะคนนิยมซื้อสินค้าไว้คราวละมาก ๆ เพื่อไม่ต้องไปซื้อบ่อยครั้ง

 

เหล่านี้คือการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคแบบชาญฉลาดก็จะสามารถครองตลาดได้ และมักจะได้รับการคัดเลือกเข้าไปอยู่ในห้าง ปัญหาของเอสเอ็มอี คือต้องตีโจทย์ให้แตก ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ถ้าเป็นอาหาร สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ รสชาติที่ลูกค้าชอบไม่ใช่เราชอบ ให้เอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก คุณภาพจะขายตัวเองในระยะยาวโดยไม่จำเป็นต้องทำโปรโมชั่น

 

รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า ต้องพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด การขาย บีทูบี บางครั้งเราไม่ต้องทำตลาดกับลูกค้าหลากหลายมากนัก แต่ต้องรู้ว่าใครมีอำนาจตัดสินใจซื้อ เข้าถูกคนหรือไม่

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลหลักฐานต้องเตรียมพร้อม เช่น สินค้าเครื่องไฟฟ้าต้องมี มอก. สิ่งที่ห้างกลัวคือ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสินค้าปลอม ต้องเช็คให้ดีงจับ เพราะห้างจะเดือดร้อน

 

นอกจากนี้ศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบการก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางครั้งต้องทำเป็นบิ๊กล็อต เพื่อวางจำหน่ายในสาขาของห้างทั่วประเทศ กำลังการผลิตเราพอไหม เงินทุนหมุนเวียน ที่จะนำมาใช้จ่ายมีเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ยังฝากข้อคิดไว้ด้วยว่า ข้อมูลที่เราเคยทำเป็นสินค้าออนไลน์ ได้รับความนิยม เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่สำคัญ ที่ห้างจะชอบ

 

“ยุคนี้ลู่ทางที่เราจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น เราต้องพยายามไปทุกที่ เพราะโควิดจะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ ถ้าเราเร่งการขายให้เกิดได้เราก็ต้องไป เรื่องออนไลน์อย่าละเลย แม้บางครั้ง เราจะยังไม่ขายก็จริง แต่การทำการสื่อสาร ช่องทางออนไลน์มีประโยชน์มาก วันนี้คนไทยใช้โซเชียลมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน ช่องนี้จึงเป็นโอกาสมาก ต้องไปคิดตีโจทย์ให้แตก โดยเฉพาะ การค้าขายแบบ บีทูบี ถ้าเราทำออนไลน์ได้แข็งแรง การจัดซื้อจะตัดสินใจง่ายมาก” นายวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย