โควิดจะทวีความรุนแรงขึ้นไตรมาสสุดท้ายของปี หมอธีระชี้เศรษฐกิจไทยทรุดยาว

17 ส.ค. 2564 | 02:26 น.

หมอธีระเผยโควิดจะทวีความรุนแรงขึ้นไตรมาสสุดท้ายของปี ชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยาวนาน แนะปรับนโยบายวัคซีนหลัก ยุตินโยบายเปิดเกาะ เปิดท่องเที่ยว เปิดประเทศ

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 17 สิงหาคม 2564 "จำนวนติดเชื้อใหม่ของไทยเราเมื่อวานนี้เป็นอันดับที่ 5 ของโลกจนได้"
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 488,390 คน รวมแล้วตอนนี้ 208,571,185 คน ตายเพิ่มอีก 7,509 คน ยอดตายรวม 4,382,306 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ อเมริกา อิหร่าน สหราชอาณาจักร อินเดีย และ"ไทย" 
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 73,291 คน รวม 37,653,316 คน ตายเพิ่ม 264 คน ยอดเสียชีวิตรวม 638,183 คน อัตราตาย 1.7% 
อินเดีย ติดเพิ่ม 24,725 คน รวม 32,249,900 คน ตายเพิ่ม 438 คน ยอดเสียชีวิตรวม 432,112 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 14,887 คน รวม 20,378,986 คน ตายเพิ่ม 363 คน ยอดเสียชีวิตรวม 569,581 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 20,765 คน รวม 6,621,601 คน ตายเพิ่ม 806 คน ยอดเสียชีวิตรวม 171,305 คน อัตราตาย 2.6% 
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 5,829 คน ยอดรวม 6,476,864 คน ตายเพิ่ม 97 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,753 คน อัตราตาย 1.7%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.81 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน 
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง 
เวียดนาม เมียนมาร์ เกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

วิเคราะห์สถานการณ์ไทย
จำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก
ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติของไทย มีมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย
คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยสภาวะแวดล้อมด้านนโยบายปัจจุบัน
หนึ่ง การระบาดระลอกสามจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และจะทวีความรุนแรงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี
สอง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะยังคงเป็นไปในลักษณะเดิม โดยมีจำนวนมากที่ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคแบบมาตรฐาน ยังคงมีจำนวนไม่น้อยที่ซื้อหาชุดตรวจเอง (ทั้งที่มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ) หรือตรวจโดย ATK แล้วไม่ได้นำมารวมในระบบรายงานประจำวัน ปัญหาผลลบปลอมจะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัย (บ้าน หอพัก คอนโด ชุมชน) และที่ทำงาน

โควิดจะระบาดรุนแรงไตรมาสสุดท้ายของปี
สาม การใช้เงินที่กู้มาทั้งสองครั้ง ชี้ให้เห็นแล้วว่าละลายไปโดยได้ผลน้อยกว่าที่คาดหวัง ดังนั้นหากกู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาทมาเป็นครั้งที่ 3 เพื่อหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่โรคระบาดยังรุนแรง กระจายไปทั่ว และไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ก็จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีกครั้ง แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้จะมากมายมหาศาล โดยเป็นการก่อหนี้ให้กับประชาชนทั้งประเทศ แต่ไม่เกิดประโยชน์ ตราบใดที่ไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายให้มุ่งตัดวงจรการระบาดให้ได้
สี่ คาดว่าผลของกล่องทรายจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายสิงหาคมเป็นต้นไป และจะประจักษ์ชัดแบบกู้กลับได้ยากในไตรมาสสุดท้ายของปี หากเป็นไปตามบทเรียนที่เห็นจากพื้นที่ที่เคยระบาดหนักแล้วไม่ตัดวงจรการระบาด ที่ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ระบาดรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า การระบาดจากกล่องทรายนั้น ไม่ได้มาจากความเสี่ยงเรื่องการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่จะมาจากการมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น กิจการกิจกรรมต่างๆ ที่มีการพบปะ สัมผัส ใกล้ชิด กันมากขึ้นจนเป็นตัวกระตุ้นให้การติดเชื้อที่มีอยู่ในชุมชนขยายวงขึ้นนั่นเอง 
ห้า ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดยาวนาน จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมยืนระยะไม่ไหว โดยจะเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี อัตราประชากรที่อยู่ในภาวะยากจน (below poverty line) จะสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อระบบบริการและสถานะสุขภาพของประชากรที่เจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ จะมีมากขึ้น ชัดเจนขึ้น

หนทางแก้ไข
หยุดนิ่ง ปูพรมตรวจคัดกรองโรคให้ครอบคลุมและต่อเนื่องจนกว่าจะกดการระบาดได้
ยุตินโยบายเปิดเกาะ เปิดท่องเที่ยว เปิดประเทศ
ใช้เงินกู้ให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ควรอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่ระบาดหนักและยังควบคุมไม่ได้
ปรับเปลี่ยนวงนโยบายและวงวิชาการด้านควบคุมป้องกันโรค และวัคซีน
เปลี่ยนนโยบายวัคซีนหลัก ใช้ความรู้ที่พิสูจน์ด้านผลการป้องกันโรค ลดความรุนแรง ลดโอกาสเสียชีวิต ไม่ใช่ใช้ผลทดลองจำนวนน้อยที่นำเสนอเพียงระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งไม่ใช่ผลลัพธ์ทางคลินิกหลักที่ต้องการจากวัคซีน
วัคซีนที่ควรนำมาใช้ต่อสู้คือ วัคซีนที่มีผ่านขั้นตอนพิสูจน์ตามมาตรฐานสากล
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากนะสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 17 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 20,128 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,856 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 272 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 919,579 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 239 ราย หายป่วยกลับบ้าน 20,791 ราย กำลังรักษา 210,032 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 703,011 ราย