กรมบัญชีกลางเผยหลักการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีเสี่ยงหรือติดโควิด-19

10 ส.ค. 2564 | 23:42 น.

กรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งต่อประชาชนและสถานพยาบาล มีผลใช้ 16 ส.ค.นี้่

จากการที่ปัจจุบันอัตราค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ปรับลดลงและมีการจำแนกประเภทของการตรวจเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการตรวจด้วยเทคนิคอื่นๆ เช่น Antigen test ยังไม่ได้กำหนดอัตราไว้ชัดเจน กรมบัญชีกลาง ได้หารือร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานประกันสังคม เห็นสมควรกำหนดแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

1. การตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด 19

   1.1 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real time RT- PCR

        - การทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

        - การทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 3 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,700 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

   1.2 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test

        - ด้วยเทคนิค Chromatography ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 450 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

        - ด้วยเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

   1.3 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจาก 1.1 และ 1.2 ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 

2. การเบิกค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล กรณีผู้มีสิทธิฯ ติดเชื้อแต่อาการเล็กน้อย ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท ต่อวัน


กรมบัญชีกลางเผยหลักการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีเสี่ยงหรือติดโควิด-19

3. การเบิกค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษา กรณีผู้สิทธิฯ ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

   3.1 มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท ต่อวัน

   3.2 มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาท ต่อวัน

   3.3 มีอาการรุนแรง (สีแดง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,500 บาท ต่อวัน

 

4. กรณีผู้มีสิทธิฯ ต้องเข้ารับการผ่าตัดในสถานพยาบาลของทางราชการและมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ค่าตรวจคัดกรองกรณีดังกล่าว สถานพยาบาลของทางราชการสามารถขอเบิกเงินจาก สปสช. ได้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด 19 ให้ ประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสถานพยาบาล ไม่ต้องแยกทำธุรกรรมในการส่งเบิกค่าตรวจคัดกรองไปยัง สปสช. โดยอนุญาตให้สถานพยาบาลฯ สามารถส่งค่าตรวจคัดกรองมาพร้อมกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลรายการอื่น ๆ สำหรับวิธีการส่งข้อมูลให้เป็นไปตามหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมายให้ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลเป็นผู้กำหนด โดยที่กรมบัญชีกลางจะจัดส่งข้อมูลค่าตรวจคัดกรองให้ สปสช. ใช้ประมวลผลการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลของทางราชการโดยตรงต่อไป

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า แนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (เพิ่มเติม) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง หมายเลข 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ