บอร์ด สปสช. เคาะเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาแพง 4 รายการ วงเงิน 77 ล้านบาท

10 ส.ค. 2564 | 20:09 น.

บอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาบัญชี จ(2) รวม 4 รายการ งบประมาณราว 76.4 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อผู้ป่วยระบบบัตรทองปี 2565 รวม 316 คน

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธาน ได้มอบให้ รศ.พญ.ประสบศรร อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน มีมติเห็นชอบในหลักการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาบัญชี จ(2) รายการใหม่ จำนวน 4 รายการ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565 โดยจะใช้เงิน “รายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม” ของเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 จำนวนไม่เกิน 77 ล้านบาทสำหรับการดำเนินการ

ทั้งนี้ ยาบัญชี จ(2) เป็นรายการยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ เป็นยาที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะโรค หรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นยาที่มีราคาแพงมาก ดังนั้นเพื่อให้เข้าถึงยาได้อย่างสมเหตุผลและคุ้มค่า จึงต้องมีการจัดกลไกกลางเป็นพิเศษในกำกับการใช้ยาภายใต้ความรับผิดชอบร่วมกันของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งดูแลโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นพ.จักรกริช โง้วศิริ

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาบัญชี จ(2) ดังกล่าว เป็นไปตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 โดยยาทั้ง 4 รายการ ประกอบด้วย 1. อิมานิทิบ (Imatinib) 2.ดาซาทินิบ (Dasatinib) 3.โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) 4.เซฟตาซิดิม/อาวิแบคแทม (Ceftazidime/avibactam) ซึ่งมีเป้าหมายสำหรับผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รวม 316 คน คิดเป็นภาระงบประมาณราว 76.41 ล้านบาท

สำหรับยาอิมานิทิบ (Imatinib) และดาซาทินิบ (Dasatinib) จะขยายข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน ชนิดลิมฟอยด์ Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL) ที่มี Ph+ ขณะที่ยาโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) จะเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุ ชนิด Systemic (Systemic Juvenile Idiopathic Arthritis: SJIA) ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน ส่วนยาเซฟตาซิดิม/อาวิแบคแทม (Ceftazidime/avibactam) จะเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae ที่ไวต่อยาเซฟตาซิดิม/อาวิแบคแทม (Ceftazidime/avibactam) ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้ยาโคลิสติน (Colistin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

นพ.จักรกริช กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ยาจำนวน 4 รายการ นี้ในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้เงิน “รายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม” ของเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 จำนวนไม่เกิน 77 ล้านบาท และดำเนินการได้ทันที