ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน หากไม่ดีขึ้นอาจขยายถึง 31 ส.ค.

01 ส.ค. 2564 | 11:15 น.

ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน จะมีการพิจารณาสถานการณ์ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ หากยังไม่ดีขึ้นอาจมีการขยายระยะเวลาใช้มาตรการถึง 31 ส.ค.64 ให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า Delivery ได้

 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ วันนี้ (1 ส.ค.64)  เวลา 17.00 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 11/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมีมติสำคัญสรุป ดังนี้
 
ที่ประชุม ศบค. มีมติขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ลดอัตราการเสียชีวิต และลดผู้ป่วยอาการหนักเพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ พร้อมยกระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดตาก จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครนายก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดยะลา จังหวัดระยอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสงขลา จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด

ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน หากไม่ดีขึ้นอาจขยายถึง 31 ส.ค.

โดยในพื้นที่แดงเข้ม ขอความร่วมมือให้มีการ WFH ถึงขั้นสูงสุด ร้านสะดวกซื้อ/ตลาดโต้รุ่ง เปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สามารถเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. รวมถึงให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถจำหน่ายอาหารแบบ Delivery สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน  โดยขอให้ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการ DMHTemp สำหรับพนักงานทุกคน ห้ามเปิดบริการหน้าร้าน ห้างสรรพสินค้าต้องจัดจุดพักรอรับอาหารที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่พลุกพล่าน โดยเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง และให้พนักงานรับส่งอาหารรอรับอาหาร ณ จุดรับส่งเท่านั้น ปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างเข้มงวด

ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน หากไม่ดีขึ้นอาจขยายถึง 31 ส.ค.

พร้อมเน้นย้ำลดการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชน ขนส่งสาธารณะงดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 สิงหาคม เป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะมีการพิจารณาสถานการณ์ในวันที่ 18 สิงหาคม หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจมีการขยายระยะเวลาใช้มาตรการดังกล่าวถึง 31 สิงหาคม 
 

ที่ประชุม ศบค. ยังได้เห็นชอบการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบกิจการ ทั้งในโรงงาน แคมป์แรงงาน บริษัท ในรูปแบบมาตรการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะพื้นที่ หรือ Bubble and Seal ในพื้นที่ 16 จังหวัด สีแดงเข้ม

ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน หากไม่ดีขึ้นอาจขยายถึง 31 ส.ค.

แม้ยังไม่พบการแพร่ระบาดก็ตาม ตามหลักการ “จัดกลุ่ม คลุมไว ลดแพร่กระจาย รายได้ไม่สูญเสีย” เน้นมาตรการตรวจคัดกรองผู้มีไข้/มีอาการเป็นประจำทุกวัน ตรวจหาเชื้อโดยใช้จัดกลุ่ม/แผนก (Bubble) ไม่ปะปนกัน กรณีมีแรงงาน/ผู้เข้ามาใหม่ ต้องกักกันอย่างน้อย 14 วันก่อนเข้าทำงาน และที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนในแรงงานให้ครอบคลุมอย่างน้อย 70% โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับมอบวัคซีนไฟเซอร์ จากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ 30 ก.ค. จำนวน 1,503,450 โดส ขณะเดียวกันสหราชอาณาจักรได้ทำเรื่องส่งมอบแอสตร้าเซเนกาให้รัฐบาลไทย 485,040 โดส ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้สมาพันธรัฐสวิส ได้มอบชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน 1,100,000 ชุด รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง ถึงเมื่อ 29 ก.ค. ขณะที่ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นได้สนับสนุนแอสตร้าเซเนกาอีกกว่า 1,000,000 โดส ซึ่งมาถึงเมื่อ 12 ก.ค.

ในวันนี้ที่ประชุมเน้นย้ำกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมในส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง เร่งรัดให้ได้ 50% ของกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ สูงอายุ 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ โดยจะมี มท. สสจ. พื้นที่ทำการขับเคลื่อน ฝากย้ำไปยังจุดฉีดให้เร่งรัดการฉีดวัคซีน บริหารจัดการควบคุมโรคตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นการเว้นระยะห่าง ดูแลความปลอดภัยของผู้มีความเสี่ยง

รวมทั้งที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามาถึง ให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์กระตุ้นภูมิเข็ม 3 ซึ่ง สธ. ชี้แจงว่า ได้มีการสำรวจความต้องการในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดที่มีความต้องการวัคซีนไฟเซอร์ในการกระตุ้นภูมิเข็ม 3 ของบุคลากรทางการแพทย์อยู่ที่ 400,000 กว่าโดส ในจำนวนดังกล่าวมีส่วนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนกาไปแล้ว 100,000 โดส

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ย้ำมีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงแก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่จำกัดเฉพาะแพทย์ที่ดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ อายุรแพทย์ แต่จะครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ทุกหน่วย
 
ในตอนท้าย ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการโรงงาน แคมป์คนงาน รัฐบาลเข้าใจถึงความยากลำบากของพี่น้องประชาชนทุกคน แต่ถ้าเราร่วมมือกันอย่างเข้มข้นตามมาตรการ จะทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการได้หลัง 14 วัน พร้อมให้กำลังใจทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ที่จะกำกับมาตรการให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็ม ความสามารถอย่างเต็มที่