กทม.เร่งเปิดศูนย์พักคอยส่งต่อ “Community Isolation” ให้ครบ 50 ศูนย์ ก.ค.นี้

20 ก.ค. 2564 | 02:41 น.

กทม.เร่งเปิดศูนย์พักคอยส่งต่อ “Community Isolation” ให้ครบ 50 ศูนย์ ใน 50 เขต ภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากที่ทำการเปิดศูนย์ ฯ ได้เเล้ว 42 เเห่ง ดูเเลผู้ป่วยโควิด เเละรับยาทันที

กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) เพิ่มเติม เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอเตียงหรือตกค้างอยู่ในชุมชนจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้าง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้มี 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้วจำนวน 42 แห่ง ในพื้นที่ 41 เขต ซึ่งเปิดบริการแล้ว จำนวน 19 แห่ง ขณะที่บางแห่งกำหนดสถานที่แล้วแต่อยู่ระหว่างการประสานงานและลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง จำนวน 6 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตบึงกุ่ม เขตบางพลัด เขตภาษีเจริญ เขตราษฎร์บูรณะ และอยู่ระหว่างพิจารณาสถานที่จำนวน 3 เขต ได้แก่ เขตวัฒนา เขตประเวศ เขตบางกอกใหญ่

นอกจากสำนักงานเขตอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดตั้งโดยเร็ว พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียงในการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จครบทั้ง 50 ศูนย์ ภายในเดือน ก.ค. 2564 เพื่อให้สามารถรองรับและช่วยเหลือผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่ให้เร็วที่สุด

 

สำหรับแนวทางการรองรับผู้ป่วยเข้าศูนย์พักคอยฯ ในกรณีที่ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แล้วมีผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ หากไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ ก็จะทำการส่งตัวเข้าศูนย์พักคอยฯ ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลตรวจ RT-PCR ที่ต้องใช้เวลารอผลจากแล็ปประมาณ 3 วัน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในความดูแลและรับยาได้ทันที โดยในส่วนของศูนย์พักคอยฯ จะมีใบยินยอม (consent form) ให้ผู้ป่วยกรอกรายละเอียดข้อมูลก่อนเข้ารับการรักษาในศูนย์

ขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา ได้มอบหมายทุกสำนักงานเขตจัดหารถสำหรับนำส่งผู้ป่วยเพิ่มเติมนอกเหนือจากรถของสำนักงานเขต โดยประสานเจ้าหน้าที่ทหาร ภาคเอกชน หรือชุมชน เพื่อให้สามารถนำส่งผู้ป่วยในชุมชนหรือพื้นที่เขตใกล้เคียงได้รวดเร็วและจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ได้กำชับให้ทุกเขตกวดขันดูแลพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตลาด โรงงาน สถานประกอบการ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค