“วัคซีนโควิด”ฝีมือคนไทยเตรียมทดสอบในคนเดือน ก.ย. คาดใช้งานได้จริงปี 65

16 ก.ค. 2564 | 01:06 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 14:04 น.

วัคซีนโควิดฝีมือคนไทย บ.ใบยา ไฟโตฟาร์ม เตรียมทดสอบในคนเดือนกันยายน คาดสามารถใช้งานได้จริงปี 65 พร้อมเดินหน้าพัฒนาวัคซีนรุ่นต่อไปสู้โควิด-19 กลายพันธุ์ ตั้งเป้าสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้กับคนไทย

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CTO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด  ผู้ผลิตวัคซีนจากพืช  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) ว่า ขณะนี้โรงงานหรือสถานที่ที่ใช้ผลิตวัคซีน และทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์  ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขนาด 1,000 ตารางเมตรดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยคาดจะเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนภายในเดือนกรกฎาคมนี้  โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการยื่นเอกสารขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบวัคซีนในมนุษย์

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำวัคซีนมาทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือนกันยายนนี้ โดยหากการทดสอบเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปี 2565 บริษัทฯน่าจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้คนไทยได้ใช้งานได้ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนในเจเนอเรชั่นต่อไป เพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบกับสัตว์ทดลอง  ซึ่งคาดว่าจะได้ผลการทดสอบภายในเดือนสิงหาคม โดยเมื่อการทดสอบวัคซีนชนิดแรกเพื่อป้องกันโควิดสำเร็จ บริษัทก็จะพัฒนาวัคซีนชนิดที่ 2 ซึ่งสามารถเป็นวัคซีนเข็มที่ 3-4 ที่ใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยได้ในอนาคต

“ปัจจุบันบริษัทฯมียาและวัคซีนหลายชนิดที่อยู่ในแผนงาน โดยสามารถใช้โรงงานดังกล่าวสร้างต้นแบบเพื่อนำไปผลิต และทดสอบในมนุษย์ได้ เรียกว่าเป็นโรงงานที่สามารถช่วยสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้กับคนไทย  หากไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงก็ยังสามารถใช้โรงงานดังกล่าวเป็นต้นแบบได้”

รศ.ดร.วรัญญู กล่าวอีกว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตยาชีววัตถุจากพืชที่สามารถนำมาใช้ทดสอบในมนุษย์ได้แห่งแรกของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชได้ในห้องควบคุม รวมถึงมีพื้นที่ในการส่งถ่ายยีนส์ที่ต้องการไปยังพืช เพื่อนำไปปลูกยังอีกห้องหนึ่งในระยะเวลา 3-5 วันก่อนตัดออกมาสกัดโปรตีนใช้ผลิตยา หรือวัคซีน

 “เป้าหมาของบริษัทฯ นอกจากสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพให้กับประเทศแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายในการสร้างบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนายา และวัคซีน หากสามารถทำได้ทั้งนักศึกษา พนักงานที่ทำงานร่วมกันในโครงการดังกล่าวจะมีความรู้ และความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น หากในอนาคตมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น ก็น่าจะสามารถใช้แพลตฟอร์ม หรือบุคลากรที่สร้างหรือพัฒนาผลิตยาและวัคซีนได้ในปริมาณมากภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว”

สำหรับโอกาสที่วัคซีนฝีมือคนไทยจะไปเจาะตลาดโลกนั้น รศ.ดร.วรัญญู กล่าวว่า ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติในการติดต่อกับต่างประเทศ  ทั้งเรื่องการทดสอบวัคซีนในประเทศอื่น หรือการนำไปใช้  โดยเวลานี้มีการเจรจาหารืออยู่  หากสำเร็จจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับตลาดโลกได้ด้วย

จากการติดตามของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืช