“เนชั่น ฟอรั่ม” ระดมความคิด ยุทธศาสตร์วัคซีนแบบไหน ช่วยไทยพ้นวิกฤติ

15 ก.ค. 2564 | 10:05 น.

“เนชั่น ฟอรั่มฯ” เวทีความคิดบนสื่อออนไลน์ ระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยยุทธศาสตร์วัคซีนโควิดแห่งชาติต้องเป็นแบบไหน ถึงจะช่วยฝ่าวิกฤต-ฟื้นเศรษฐกิจ ย้ำเปิดประเทศใน 120 วันเป็นไปได้ ขอให้เร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทุ่มงบซื้อวัคซีนคุ้มกว่าเยียวยายืดเยื้อ

งานสัมมนา NATION VIRTUAL FORUM : Thailand Survival Post Covid-19 ตอน วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดขึ้นวันนี้ (15 ก.ค.) เปิดเวทีด้วยการเสวนาแลกเปลี่ยนทัศนะในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์วัคซีนโควิดแห่งชาติ” โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า และ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์NIDA  มีทั้งข้อสรุปและข้อเสนอแนะน่าสนใจ เป็นเสียงสะท้อนถึงหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

การเปิดประเทศใน 120 วัน เป็นไปได้

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านมองว่า การที่รัฐบาลตั้งธงว่า จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน นั้นมีความเป็นไปได้ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน รัฐบาลเองมีเป้าหมายควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดให้ได้โดยตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมาได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส หรือ 70% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ (herd immunity) โดยในเดือนต.ค.จะฉีดให้ได้ 50 ล้านโดส จากนั้นเดือนธ.ค. ขยับเป็น 100 ล้านโดส ตอนนี้ฉีดไปได้แล้วประมาณ 13 ล้านโดส ดังนั้น ในการมุ่งสู่เป้าหมายจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการวัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

(จากซ้ายไปขวา) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ , ดร.สมชัย จิตสุชน และรศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ให้ความเห็นว่า เป้าหมายการเปิดประเทศภายใน 120 วันนั้น มีความเป็นไปได้ เพราะโดยหลักการหรือโดยทฤษฎีแล้ว การใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างที่ไทยทำอยู่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 4 ของโควิดนั้น ก็คือการจำกัดการเดินทางเคลื่อนที่ของคน จำกัดกิจกรรมการพบปะของบุคคล จึงเท่ากับเป็นการจำกัดการแพร่ระบาด เพราะโควิด-19 แพร่จากคนสู่คน ถ้าคนไม่เคลื่อนที่มากภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ การแพร่ระบาดก็ควรจะลดลงมากด้วยตามหลักการ เมื่อประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ก็น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมองด้วยว่า เราจะล็อกดาวน์ไปได้นานแค่ไหน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยในเรื่องความสามัคคี ความมีวินัย ประชาชนจะให้ความร่วมมือเมื่อเขาเข้าใจว่าจะประสบอะไรบ้างหลังเปิดประเทศแล้ว  

 

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ไทยมีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นโครงการนำร่องการเปิดประเทศ  ภูเก็ตจะเป็นแบบจำลองให้เห็นว่า เราเตรียมตัวมาอย่างไร และถ้าเปิดแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น เช่นมีคนติดเชื้อโควิดเพิ่ม  เราจะป้องกันและจะบริหารจัดการอย่างไร “เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจช่วย แต่เท่าที่ดูภูเก็ตจนถึงตอนนี้ ทุกอย่างยังบริหารจัดการได้ มีติดเชื้อใหม่บ้าง ก็ยังจัดการได้ แต่ที่ต้องคำนึงคือภูเก็ตเป็นเกาะ หากมีปัญหา เช่นการติดเชื้อ ก็จะคุมได้ง่ายกว่าแผ่นดินใหญ่ เช่น พัทยา เชียงใหม่ ถ้าในพื้นที่อื่น เราทำได้ดี ก็ไม่น่ามีปัญหา”

 

สอดคล้องกับทัศนะของ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของไทยพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ เราจึงเน้นคำว่า “เปิดประเทศ” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้าการเกิดโควิดเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงปีละ 40 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท สร้างงาน 7 ล้านคนต่อปี ไทยจึงมีความคาดหวังกับการเปิดประเทศเพื่อสร้างรายได้  การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปมาก ถ้าอยากเห็นการเปิดประเทศใน 120 วัน ต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยประกอบกัน ต้องลดการติดเชื้อให้ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเร่งในเรื่องการฉีดวัคซีน และบริหารจัดการเรื่องการควบคุมโรคในพื้นที่ให้ดี เช่นการตรวจหาเชื้อและการคัดกรองคน เชื่อว่าภายใน 120 วันไทยน่าจะเปิดประเทศได้

 

ล็อกดาวน์ควบคู่การเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การระบาดระลอก 4 นั้นหนักกว่าที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รศ.ดร.มนตรี จากนิด้า มองว่า ประชาชนพยายามระมัดระวังตัวเอง พยายาม“ล็อกดาวน์ตัวเอง” ด้วยการลดการออกนอกบ้าน ลดกิจกรรมเดินทาง ลดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงอาจจะต้องใส่เงินเข้าไปบ้าง แต่ก็มีขอบเขตจำกัด เพราะรัฐมีภาระหนี้อยู่ และรอบที่ผ่านมาก็ใส่ไปมากแล้ว

 

“ผมมองว่า การเร่งฉีดวัคซีนก็จะช่วยได้อีกทาง เพราะจะทำให้ชีวิตกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น เช่นกลับมาเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย กินอาหารนอกบ้าน ฯลฯ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวโดยไม่ต้องรอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ” นอกจากนี้ ยังเห็นว่า รัฐบาลมีประสบการณ์จากการออกมาตรการเยียวยาในรอบที่ผ่าน ๆมา ตัวอย่างเช่น ทำให้รู้ว่าจะดูแลคนในระบบประกันสังคมและคนนอกระบบอย่างไร ควรจะต้องล็อกดาวน์เพียงแค่บางพื้นที่ ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นต้น และทำการเยียวยาเป็นระยะๆ เป็นช่วงๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทำควบคู่ไปกับเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเร็วที่สุด   

 

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมชัย จาก TDRI เพิ่มเติมว่า การระบาดระลอกใหม่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมเพราะเป็นการติดเชื้อของคนในบ้านหรือสมาชิกครอบครัวเดียวกันมากขึ้น การล็อกดาวน์ด้วยการงดเดินทางหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน จึงยังไม่อาจหยุดยั้งการแพร่เชื้ออย่างที่เคยเป็นมาในรอบแรก ๆ ซึ่งการรับมือในเรื่องนี้ รัฐอาจต้องเร่งเพิ่มการตรวจเชื้อโควิดให้กับประชาชน ต้องทำให้การตรวจ Rapid Test สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น “แรกๆ การเร่งตรวจ อาจทำให้พบตัวเลขติดเชื้อพุ่งมาก แต่ไม่ต้องตกใจ ผมเห็นด้วยกับอ.นิธิที่ว่า โดยทฤษฎีเมื่อล็อกดาวน์แล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้น มันต้องใช้เวลา”

 

ศ.นพ.นิธิ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใน 70% ของประชากรนั้นหมายถึง การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่การทยอยฉีดห่างกันจนกลุ่มที่ฉีดไปแล้วเริ่มมีภูมิต้านทานลด (คนกลุ่มนั้นก็จะไม่ไปอยู่ใน 70 % แล้ว) ขณะที่อีกกลุ่มเพิ่งได้ฉีด เพิ่งสร้างภูมิต้านทาน ด้วยเหตุนี้ จึงย้ำมาตั้งแต่แรกว่า รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว แต่ข้อเท็จจริง คือ เราได้วัคซีนแบบทยอยมา การจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 70% จึงทำได้ไม่ง่าย นอกจากนี้ การที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้ง่ายกว่า ไวกว่า ก็เป็นอีกตัวแปรที่ทำให้ต้องมีวัคซีนที่สร้างภูมิคุมกันไปได้อีกระดับ

 

 “ผมอยากเน้นว่า เราควรจะมีภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาในระดับที่จะป้องกันเชื้อใหม่ๆ ได้ ปกติประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนจะลดในระยะ 6-8 เดือน เราจึงอาจต้องไปฉีดกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิ ซึ่งอีกหน่อยโควิดมันอาจกลายเป็นโรคที่มาเป็นฤดูกาล เหมือนกับไข้หวัด ที่เราต้องฉีดวัคซีนป้องกันกันทุกปี” อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งเมื่อได้พบเจอคนที่ติดเชื้อเป็นบวก ก็ไม่ต้องกักตัวแล้ว แต่ยังอาจเป็นพาหะนำเชื้อไปติดคนอื่นๆได้อยู่ จึงยังต้องมีความระมัดระวัง

“เนชั่น ฟอรั่ม” ระดมความคิด ยุทธศาสตร์วัคซีนแบบไหน ช่วยไทยพ้นวิกฤติ

ยุทธศาสตร์วัคซีนที่มีความยืดหยุ่น ชัดเจนและเข้ากับสถานการณ์

ศ.นพ.นิธิ  เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์วัคซีนของไทยว่า ควรต้องมีความหลากหลายของวัคซีนเพื่อรับมือโควิดสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก เพราะแต่ละคนอาจแพ้วัคซีนหรือมีอาการข้างเคียงต่อวัคซีนที่แตกต่างกัน จึงควรมีวัคซีนที่หลากหลายเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน  ยิ่งมีหลายชนิด ยิ่งมาก ก็ยิ่งดีสำหรับการบริหารจัดการวัคซีน

 

ขณะที่ ดร.สมชัย จาก TDRI เห็นว่า มติของที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนความหลากหลายของชนิดวัคซีนเป็นเรื่องที่ดี มติของรัฐบาลที่จะจัดสรรวัคซีนต้านโควิดในปีหน้า (2565) 120 ล้านโดส นั้นครอบคลุมวัคซีนคุณภาพสูงทั้ง 3 ชนิด คือ mRNA , แบบโปรตีนซับยูนิต และไวรัลเวตเตอร์

 

“ยุทธศาสตร์วัคซีนควรต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว เช่นปีที่แล้วเราจองวัคซีนไม่ได้เพราะวัคซีนหลายยี่ห้อกำลังอยู่ในขั้นการทดลอง (ซึ่งขัดต่อพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง) เรามีกฎเกณฑ์ที่ห้ามอยู่ ดังนั้น ข้อจำกัดนี้จึงไม่ควรมี ซึ่งปัจจุบัน ก็ได้มีการแก้ไขแล้ว ทำให้เราสามารถจองซื้อวัคซีนที่ยังพัฒนาไม่สำเร็จได้ ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจองวัคซีนไม่ทัน เราต้องยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์และซัพพลายที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”  นอกจากนี้ ดร.สมชัยยังเห็นว่า ทีมจัดหาวัคซีนเป็นแพทย์มีเพียง 2-3 ท่านในการเจรจา ควรมีมากกว่านั้น และควรเพิ่มมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย นอกเหนือจากมุมมองของแพทย์

 

ด้าน รศ.ดร.มนตรี จากนิด้า  เสริมว่ารัฐต้องกู้เงินมาใช้เพื่อการจัดซื้อวัคซีนให้ประชาชนอยู่แล้ว ก็ควรทุ่มงบจัดซื้อให้ได้โดยเร็วจะคุ้มค่ากว่าการที่ต้องมาเยียวยาในภายหลัง ขณะเดียวกันก็ควรบริหารจัดการวัคซีนที่ได้มาให้ดี เช่นอาจต้องให้น้ำหนักกับพื้นที่ที่มีประชากรแออัดหรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างกทม.และปริมณฑล หากฉีดวัคซีนได้ 70% เรียบร้อย คนกลุ่มนี้จะเดินทางและใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่ต้องรอเปิดประเทศก็ได้ ซึ่งภายใต้วัคซีนที่มีจำกัดและเม็ดเงินที่มีจำกัด การเน้นโฟกัสเป็นพื้นที่ ๆ เป็นเรื่องจำเป็น 

 

“อยากให้เรามียุทธศาสตร์วัคซีนที่เป็นรูปธรรม อย่าทำให้คนสับสน ต้องทำให้เขามั่นใจ เม็ดเงินที่เรากู้มาเป็นภาระหนี้ของประเทศ ถ้ายืดเยื้อเราอาจต้องกู้เพิ่ม แต่การมีหนี้มากไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าห่วง ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่มีหนี้เป็นสัดส่วนของจีดีพีสูงมาก  เพียงแต่เราต้องใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”