ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ สธ. หนุนมติการให้วัคซีนโควิดแบบสลับชนิด

14 ก.ค. 2564 | 13:46 น.

ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ สธ. ยันสนับสนุนมติการให้วัคซีนโควิดแบบสลับชนิด ด้านผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้แจงไม่ได้มีข้อขัดแย้งต่อนโยบายการฉีดวัคซีนของไทย

กรมควบคุมโรค เผย มติการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ เรื่อง การให้วัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิด ว่าวันนี้ (14 ก.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 23/2564 โดยมี ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร เป็นประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ ที่ประชุมประกอบด้วย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ,นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ Dr.Renu Madanlal รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเทศไทย

 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามที่การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม ให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยอาจเป็นวัคซีน AstraZeneca หรือวัคซีนชนิด mRNA อย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังจากวัคซีน Sinovac เข็ม 2

ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ สธ. หนุนมติการให้วัคซีนโควิดแบบสลับชนิด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการให้วัคซีนโควิด-19 สลับชนิด กรณีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็น Sinovac ตามด้วยวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ซึ่งสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วขึ้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ของโรค

 

ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ที่ประชุมยืนยันสนับสนุนมติที่ประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งเห็นชอบการให้วัคซีนโควิด 19 สลับชนิด กรณีการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 เป็น Sinovac ตามด้วยวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์

 

ทั้งนี้ จะมีการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ สำหรับหน่วยบริการต่างๆ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ และมีการติดตาม ประเมินผลการให้วัคซีนแบบสลับชนิดอย่างเป็นระบบ ตามข้อคิดเห็นของผู้แทนองค์การ อนามัยโลก (WHO) โดยยืนยันว่า การพิจารณานโยบายการให้วัคซีนโควิด-19 ดังกล่าว ใช้ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยรองรับ และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านวิชาการฯ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้

 

ในที่ประชุมยังได้มีการหารือเพิ่มเติมในประเด็นที่มีการเผยแพร่ข้อความและคลิปวีดิโอจากองค์การอนามัยโลก โดย Dr.Soumya Swaminathan หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WHO ที่มีเนื้อความบางส่วนกล่าวว่า ประชาชนไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยผสมสูตร เนื่องจากจะเกิดความวุ่นวาย หากประชาชนมีโอกาสเลือกตัดสินใจเอง ว่าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 เข็ม 3 และ 4 ได้เมื่อไหร่ และฉีดวัคซีนของผู้ผลิตรายใด แต่ทั้งนี้หน่วยงานสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้ ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

 

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว Dr.Renu Madanlal รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกในไทย ให้ความเห็นว่า “องค์การอนามัยโลกไม่ได้มีข้อขัดแย้งต่อนโยบายของประเทศไทย เป็นการให้คำแนะนำในภาพรวม ถ้าหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศมีข้อมูลสนับสนุนการเลือกใช้วัคซีนแบบใดแบบหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศ แต่ประชาชนไม่ควรตัดสินใจด้วยตนเอง ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ซึ่งสามารถทำได้หากอยู่บนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์”

 

นอกจากนี้ ผู้แทนของ WHO ยังมีข้อเสนอให้มีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลผลการศึกษา พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ในผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรังให้มากที่สุด

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการด้านวิชาการฯ มีข้อเสนอแนะให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำผลการศึกษาวิจัยมาพิจารณาใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ข้อมูลว่า มีความพร้อมในการสนับสนุนการวิจัย ทั้งในด้านการให้วัคซีน การติดตามการกลายพันธุ์ รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม