ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

09 ก.ค. 2564 | 03:48 น.

ภาคธุรกิจหนุน “ล็อกดาวน์” เฉพาะพื้นที่ยันไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ห่วงกระทบแรงงานต้องเยียวยา หนุนให้ขยายเพดานหนี้สาธารณะ กู้เงินมารับมือ“หมอบุญ” ชี้ต้องใช้ 3-4 แสนล้านช่วย หอการค้าไทยถก 40 ซีอีโอ หาทางออกวิกฤติโควิด

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวันขึ้นไปอยู่ระดับ 6-7 พันคน และยังมียอดผู้เสียชีวิตเป็นตัวเลขสองหลักอยู่ จนส่งผลให้โรงพยาบาลต่างๆ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลสนาม ไม่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้

 

ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลติดสินใจในการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

 

ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19(EOC) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอให้มีการล็อกดาวน์พื้นที่ในกรุงเทพมหานครใม่ต่ำกว่า 14 วัน เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงมีผู้ติดเชื้อไวรัสสูงสุดในแต่ละวัน เป็นการยกระดับมาตรการทางสังคม ที่จะให้อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

 

การจำกัดการเดินทาง ไม่ออกจากเคหสถาน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ยกเว้นไปหาอาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีน

 

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือศบค. ได้เรียกประชุมด่วนในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ เพื่อพิจารณามาตรการล็อกดาวน์ บางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กทม.และปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เห็นว่ามาตรการทุกอย่างที่รัฐบาลจะออกมา จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรัดกุม ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก

 

แต่หากไม่ดำเนินการ อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความรุนแรงมากกว่านี้ ที่มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการจำกัดการเคลื่อนย้าย การป้องกันมิให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม การปิดสถานที่เพิ่มเติม และมาตรการอื่นๆที่จำเป็น

 

เพราะในยามนี้เปรียบเสมือนการทำสงครามกับเชื้อไวรัส สิ่งที่จะทำให้เราชนะได้ คือความสามัคคีของคนในชาติ ความมีวินัย ความอดทน การร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือกันของคนในชาติ

 

ถก 40 ซีอีโอแก้วิกฤติ

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการล็อกดาวน์ทุกภาคส่วนทั่วประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้าง และรัฐต้องใช้เงินเยียวยามหาศาล ซึ่งช่วงเย็นของวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

หอการค้าไทยได้ประชุมร่วมกับ 40 ซีอีโอของบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อหาทางออกและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพราะเห็นว่าทิศทางการระบาดของโรคโควิดจากนี้มีแนวโน้มจะมีผู้ติดเชื้อเกิน 1 หมื่นคนต่อวัน จะมีทางออกอย่างไร และจะมีข้อเสนอแนะรัฐบาลอย่างไรบ้าง รวมถึงแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

“ล็อกดาวน์เราคงไม่เห็นด้วยที่จะล็อกดาวน์ทั้งหมด แล้วต้องมีมาตรการเยียวยาอย่างไรโดยมีผู้อำนายการโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงนายธนาคาร และผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้าร่วมประชุม

 

ซึ่งผลสรุปและข้อเสนอต่าง ๆ จะได้นำเสนอ ศบค. เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ รวมถึงแนวทางหากรัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์ว่าควรมีจุดยืนหรือแนวทางอย่างไร ต้องเยียวยาอย่างไรบ้าง”

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การล็อกดาวน์ประเทศต้องดูว่าล็อกขนาดไหน ตัวอย่างการล็อกดาวน์ครั้งที่แล้วภาคการผลิตยังสามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ส่วนไหนที่โดนผลกระทบจากโควิดก็ล็อกดาวน์ไป

 

หากมีการล็อกดาวน์ในรอบใหม่ ธุรกิจหลายภาคส่วนที่มีความจำเป็นอาจต้องให้เปิดบางส่วนอยู่ เช่น ร้านขายยา บริการทางการแพทย์ ร้านขายสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งต้องดูความเหมาะสมหลายเรื่อง ยอมรับว่าตอนนี้สถานการณ์น่าห่วง แต่ในส่วนของภาคการผลิตก็พยายามอย่างเต็มที่ในการควบคุมดูแลสถานการณ์

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

“การล็อกดาวน์ ล็อกแล้วต้องเอาให้อยู่จริง ๆ ภาคส่วนไหนที่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องก็อย่าไปปิด ต้องดูว่าจะล็อกอย่างไรบ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องจะให้คำแนะนำอย่างไร อย่างที่ผมเคยเสนอจะล็อกร้านอาหารก็ต้องเอาร้านอาหารมาคุยว่าเขาแก้ได้มั้ย

 

ถ้าแก้ไม่ได้ก็ปิดสมมติ เช่นเดียวกันภาคการผลิต ภาคก่อสร้างจะทำอย่างไรเพราะถ้าหยุดไปก็จะเสียหายมาก อันไหนที่เขาคุมได้ก็ให้เขาเปิดต่อไปได้หรือไม่ สรุปคือควรจะหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนล็อกดาวน์ ว่าจะล็อกขนาดไหน แบบไหน เพื่อให้เสียหายน้อยที่สุด และยังควบคุมการแพร่ระบาดได้ด้วย

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

ส่วนระยะเวลาการล็อกดาวน์ควรดูเป็นเฟส ๆ ไป เช่น 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์ ซึ่งไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์ เพราะถ้าปิด 1 เดือนรัฐจะไม่มีเงินเหลือช่วยเยียวยา และจะกระทบวงกว้างมาก”

 

ต้องมีแผนชัดเจนรับมือ

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ห่วงการล็อกดาวน์ เพราะจะส่งผลกระทบทุกภาคส่วน เพราะจากบทเรียนครั้งที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ช่วงเมษายน ความบอบช้ำเป็นอย่างไร น่าจะเรียนรู้ตรงนั้น แต่เข้าใจรัฐบาลว่าจะต้องรักษาสุขภาพของคนไทยและระบบสาธารณสุขของประเทศ

 

ทั้งนี้หากมีการล็อกดาวน์ก็มีภารกิจเร่งด่วนที่ควบคู่กันไปเช่น การบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงต้องเร่งในเรื่องที่ภาคเอกชนประสานเสียงเดียวกันคือวัคซีนคือทางออก และทางรอดสุดท้าย ไม่ใช่เฉพาะสุขภาพของคนไทย แต่ยังรวมถึงสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

ขณะเดียวกันก่อนที่จะล็อกดาวน์ต้องตอบตัวเองก่อนว่า ณ วันนี้รัฐบาลมีแผนหรือยังว่าล็อกดาวน์เสร็จจะทำอะไรต่อ เช่น ในแง่การตรวจเชิงรุก การรักษาพยาบาล การฉีดวัคซีน ทุกอย่างต้องทำให้เห็นภาพทั้งหมดว่า

 

จะมีขั้นตอนต่าง ๆ อย่างไร และต้องมีเป้าหมายระยะเวลาการล็อกดาวน์ที่ชัดเจน ซึ่งจะล็อกดาวน์ 15 วัน หรือ 1 เดือนก็ไม่ว่า แต่ขอให้มีแผนปฏิบัติการหลังล็อกดาวน์ให้ชัดเจน

 

“ตอนนี้เศรษฐกิจ และสุขภาพของหลายประเทศเขาวิ่งกันแล้ว แต่เรายังอยู่ในห้องพยาบาล ดังนั้นต้องเร่งรัดในการฉีดวัคซีนให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรมทั่วประเทศมากกว่านี้ รวมถึงการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาฉีดด้วย เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรกเลย

 

ในภาคแรงงานของโรงงานทั่วประเทศโดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้ฉีดวัคซีนกันน้อยมาก การเข้าถึงวัคซีนยังมีปัญหา ยกเว้นกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ได้ฉีดกันบ้างแล้ว หากมีการติดเชื้อกันมาก ๆ ในโรงงานก็จะมีผลต่อการหยุดชะงักของภาคผลิตเพื่อส่งออกในอนาคต”

 

ขยายเพดานหนี้กู้เพิ่ม

 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การพิจารณาการยกระดับมาตรการทางสังคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโวคิด-19 นั้น รัฐบาลควรพิจารณาล็อกดาวน์เพียงบางกลุ่มที่เป็นคลัสเตอร์ จะถูกทางมากกว่าการปิดทั้งหมดเหมือนปีที่แล้ว

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากปีก่อน จากช่วงนั้นเป็นการเริ่มต้นที่ยังไม่ทราบต้นเหตุ แต่ในตอนนี้มีข้อมูลพอสมควรแล้ว ส่วนมาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำขณะนี้ คือการเร่งจัดหาวัคซีนให้เร็วกว่าเดิม เพราะหากล็อกดาวน์จริง แต่ไม่มีวัคซีนก็ไม่มีความหมาย

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

ทั้งนี้ มองว่าจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจ แต่จะกระทบกับคนทำงานหรือลูกจ้าง ซึ่งต้องมีการเยียวยา โดยรัฐบาลควรพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายเพดานหนี้สาธารณะจากที่ชนเพดานแล้ว 60% เพื่อรองรับหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ จะได้ไม่มีความยุ่งยาก อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอ ถึงแม้จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่การท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นได้ทันที

 

รัฐบาลเอาไม่อยู่แล้ว

 

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจดูแลสุขภาพเครือโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า ในฐานะแพทย์คนหนึ่ง เรื่องของชีวิตคนต้องมาก่อน

 

ตอนนี้รัฐบาลเอาไม่อยู่แล้ว มีคนมานั่งรอหน้าโรงพยาบาล นอนรถในลานจอดรถ เพื่อรอคิวเข้าตรวจโควิด มาตรการขั้นเด็ดขาดคือ “ล็อกดาวน์” แม้จะรุนแรง แต่รัฐบาลต้องทำแม้จะต้องใช้งบประมาณเยียวยาสูง 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน แต่ต้องทำ

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

“รัฐบาลต้องยอมรับว่า ตัวเองเอาไม่อยู่แล้ว ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดคือ “ล็อกดาวน์” ห้ามออกจากบ้าน เหมือนการระบาดครั้งแรกในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลเอาอยู่ แต่เมื่อบริหารจัดการวัคซีนล้มเหลว จึงเกิดการระบาดหนัก มีคนติดเชื้อจำนวนมาก หากเป็นเช่นนี้ รัฐบาลเลิกคิด เลิกพูดถึงการเปิดประเทศใน 120 วันได้เลย”

 

ท่องเที่ยวขอเยียวยา

 

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทยอยเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทุกวัน ในขณะที่อัตราการได้รับวัคซีนอาจจะยังไม่รวดเร็วเท่าที่ควร การล็อกดาวน์เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์และพยุงระบบสาธารณสุขอาจจะเป็นทางออกที่จำเป็นต้องดำเนินการ ไม่ต่างจากประเทศชั้นนำ หรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะความปลอดภัยของทุกคนคือเรื่องสำคัญที่สุด

ล็อกดาวน์ดับวิกฤติ จี้ขยายเพดานหนี้ กู้เพิ่มรับมือ  หอฯถก 40 CEO ขอเยียวยา

ทางดุสิตฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตามและการให้การสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ดีต้องขอความกรุณาจากภาครัฐ ในการเร่งพิจารณาเรื่องมาตรการเยียวยา และช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อรักษาสภาพคล่องและสามารถประคับประคองกิจการและพนักงานต่อไปด้วย

 

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่า ถ้าจำเป็นต้องล็อกดาวน์ จากเหตุที่มีคนติดเชื้อโควิดมากจนมาตราการที่ใช้อยู่ยังควบคุมไม่ได้ ก็ต้องล็อกดาวน์ หรือจะใช้มาตรการควบคุมอื่นๆที่เข้มข้นกว่าเดิม

 

หากมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นก็อยากเรียกร้องให้รัฐบาลมองถึงการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้วย เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มายาว นานกว่า 1 ปีแล้ว ขณะที่การเปิดเมืองเพื่อรับท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นการเดินควบคู่กันระหว่างการฟื้นเศรษฐกิจและควบคุมการแพร่ระบาด

 

ก็ไม่ได้เปิดได้ทุกที่อยู่แล้ว เพราะต้องขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนในพื้นที่ต้องได้อย่างน้อย 70% และมาตรการการควบคุม อย่างพื้นที่สีเขียวเช่นภูเก็ต ก็ชัดเจนว่าหากมีการติดเชื้อเกิน 90 คนก็จะยกเลิกโครงการ

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก. เงินกู้  1 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 6 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการเพื่อกู้เงินแล้ว 992,000 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินที่ยังไม่ได้อนุมัติอีก 8,000 ล้านบาท

 

โดยสบน.ได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 803,000 ล้านบาท โดยได้รวมกับงบประมาณ 140,380 ล้านบาทสำหรับใช้ใน 4 มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างเดือน ก.ค.- ธ.ค. 64 แล้ว ส่วนการเบิกจ่ายใช้เงินกู้ล่าสุดรวม 773,000 ล้านบาท 

 

“สำหรับวงเงินกว่า  6,111 ล้านบาทที่ครม.อนุมติในที่ประชุมวานนี้ ( 7 ก.ค.) เพื่อจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นการใช้งบรวมที่ ครม.อนุมัติแล้ว ส่วนที่จะใช้เงินกู้ในพ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการส่งเรื่องมายัง สบน. ซึ่งการใช้จ่ายเงินกู้ จะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ก่อน”