"ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน"เร่งโควิดระบาด หมอมนูญแนะใช้เงินหาวัคซีนฉีดแรงงาน

08 ก.ค. 2564 | 01:30 น.

หมอมนูญเผยการล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้างยิ่งเร่งโควิดแพร่กระจายจากกรุงเทพสู่ต่างจังหวัด แนะควรนำเงินเยียวยาชดเชยลูกจ้างและนายจ้างมาใช้เร่งหาวัคซีนฉีดแรงงานมากกว่า

รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
การพบการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในหลายแคมป์คนงานก่อสร้าง เชื่อว่าเป็นที่มาของคำสั่งล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม.และปริมณฑล 
การปิดไซต์งาน หยุดงานก่อสร้าง ห้ามเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน กักตัวคนงานให้อยู่ในที่พัก คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า เป็นเวลา 1 เดือน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเนื่องจาก
1. โอกาสที่คนงานติดเชื้อในขณะทำงานกลางแจ้งที่ไซต์งานซึ่งมีพื้นที่กว้าง มีแสงแดด มีลมพัด น้อยกว่าโอกาสติดเชื้อขณะพักอาศัยร่วมกันในที่พักชั่วคราวของคนงานก่อสร้างซึ่งมีพื้นที่แคบ อยู่กันอย่างแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี   การประกาศให้หยุดงานและกักตัวให้คนงานอยู่แต่ในที่พักชั่วคราว ห้ามเคลื่อนย้าย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากกลุ่มคนงานก่อสร้างไปยังผู้อื่น  คนงานเหล่านี้อายุน้อย 20- 40 ปี หากติดเชื้อโควิด รักษาตามอาการ ก็หายเองได้ เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ โอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตก็น้อยมาก การสั่งปิดงานก่อสร้างไม่ได้ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะคนงานจำนวนมากได้หนีกลับบ้านเกิด เพราะไม่อยากโดนกักตัว เอาเชื้อโควิดจากกรุงเทพฯ ไปติดญาติผู้ใหญ่ในต่างจังหวัด ทำให้คนสูงอายุป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

"ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน"เร่งโควิดระบาด หมอมนูญแนะใช้เงินหาวัคซีนฉีดแรงงาน

2.การปิดไซต์งานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายร้อยแห่งอย่างกระทันหันเป็นเวลาหนึ่งเดือน นอกจากทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ เศรษฐกิจของประเทศยังทำให้เสียหายต่องานก่อสร้างเอง เช่นปล่อยให้เสาเข็มที่ทำไว้ไม่มีการดูแล ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน  อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการก่อสร้าง หรือต้องผ่านบริเวณที่มีการก่อสร้างเหล่านั้น

"ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน"เร่งโควิดระบาด หมอมนูญแนะใช้เงินหาวัคซีนฉีดแรงงาน
3.เงินที่นำมาเยียวยาชดเชยลูกจ้างและนายจ้างหลายพันล้านบาท ควรจะนำมาใช้ในการเร่งจัดหาวัคซีนให้กับแรงงานก่อสร้างมากกว่า
การปิดงานก่อสร้างกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม หลายฝ่ายอยากให้มีการทบทวน ผ่อนคลายคำสั่งห้ามก่อสร้าง และการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

สำหรับการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น  มาจากเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งลงนาม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา 
โดยมีข้อ 1 ที่ระบุว่า ล็อกดาวน์ปิดแคมป์ก่อสร้าง 30 วัน เพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ดี "ฐานเศรษฐกิจ" ยังได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 8 กรกฏาคม 64 จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 7,058 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,990 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 68 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 279,367 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 75 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,978 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 208,723 ราย