ดร.พนิต ชำแหละ ผังเมือง กับ เหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว - สมุทรปราการ

06 ก.ค. 2564 | 09:27 น.

นายกสมาคมผังเมืองไทย ชำแหละ ผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ตอบคำถาม เหตุใด? โรงงานหมิงตี้เคมิคอล ตั้งอยู่ผ่ากลางชุมชน ก่อนเกิดมหันภัยร้าย ไฟไหม้รุนแรง ความเสียหายวงกว้าง

6 ก.ค.2564 - รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ นายกสมาคมนักผังเมืองไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ถึง กรณี เหตุโรงงานโฟม 'หมิงตี้เคมิคอล' ไฟไหม้ ระเบิดรุนแรง เมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา และสังคมเกิดคำถามตามมา ว่าเหตุใด รัฐถึงปล่อยให้ โรงงานเคมีขนาดใหญ่ เสี่ยงอันตราย แห่งนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหนาแน่น อันเกี่ยวเนื่องกับผังเมืองเป็นหลัก และใครต้องรับผิดชอบ ว่า ....

 

เหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่โรงงานหมิงตี้เคมิคอล ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อชุมชนโดยรอบ นำมาซึ่งคำถามว่าผังเมืองรวมสมุทรปราการ อนุญาตให้โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ไปตั้งอยู่ข้างสนามบินและมีชุมชนโดยรอบได้อย่างไร ลองมาไล่ดูว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

- โรงงานหมิงตี้สร้างเมื่อปี 2532 ซึ่งในเวลานั้นสนามบินสุวรรณภูมิยังไม่แล้วเสร็จ และไม่มีใครคิดว่าจะแล้วเสร็จด้วยซ้ำ พื้นที่ตรงนั้นเป็นย่านเกษตรกรรม คนตั้งถิ่นฐานเบาบาง ผลกระทบจากโรงงานก็ไม่มีมากนัก

- ผังเมืองรวมสมุทรปราการฉบับแรกออกมาบังคับใช้เมื่อ พ.ศ.2537 (edited มีท่านหนึ่งแจ้งมาว่าผังฉบับแรกคือ 2537 ไม่ใช่ 2544 ครับ ขอบคุณครับ) คราวนี้มีการกล่าวถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ให้เป็นสีน้ำเงินสถาบันราชการ และบริเวณกิ่งแก้วเป็นสีแดง พาณิชยกรรม มีเป้าหมายเพื่อรองรับโกดังสินค้าและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางอากาศ เป้าหมายคือพวกบรรจุภัณฑ์และคลังสินค้านั่นแหละ ไม่ใช่โรงงานโฟมแต่อย่างใด ซึ่งโรงงานหมิงตี้ก็ขัดกับผังเมืองรวมมาตั้งแต่ปี 2537

 

- มีผังเมืองรวมฉบับปรับปรุงแก้ไข และทำใหม่ของจังหวัดสมุทรปราการออกมาเรื่อยๆ  พื้นที่กิ่งแก้วก็ยังเป็นสีแดง พาณิชยกรรม และมีวัตถุประสงค์เดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ก็มิได้มีการดำเนินการใด ๆ กับโรงงานหมิงตี้ที่ขัดกับผังเมืองรวมทุกฉบับ จนเกิดภัยพิบัติใหญ่ขั้นในวันนี้

เมื่อไล่เรียง timeline มาแล้ว เห็นได้ชัดว่า โรงงานนี้ตั้งมาก่อนมีกฎหมายผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ กฎหมายไม่น่ามีผลย้อนหลัง ก็คงทำอะไรเขาไม่ได้ มาดูกันว่า กฎหมายผังเมืองระบุแบบนั้นจริงไหม

พรบ.ผังเมือง 2518 จนมาถึง พรบ.ผังเมือง 2562 มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ผังเมืองกับกิจการที่มีมาก่อนมีผังเมืองรวมบังคับใช้มาโดยตลอด ในมาตรา 37 มี 4 วรรค ตามภาพ

 

วรรคหนึ่ง ถ้ามีผังเมืองรวมแล้ว ห้ามใช้ผิดจากที่กำหนดไว้ในผังเมือง

 

วรรคสอง แต่ถ้าอยู่มาก่อนมีผังเมืองรวมก็อยู่ต่อไปได้ เว้นแต่ขัดต่อนโยบายของผังเมืองรวมในสาระสำคัญ 

 

ถ้าขัดแย้ง บรรทัดต่อมาก็กำหนดว่าคณะกรรมการผังเมืองสามารถสั่งให้แก้ไข ปรับปรุงในเวลาที่กำหนด หรือไปจนถึงการระงับการใช้งานได้เลย

 

วรรคสาม แต่ถ้าสั่งให้แก้ไข ปรับปรุง หรือระงับการใช้งานตามวรรคสอง ก็ต้องมีการชดเชย เพราะเขาอยู่มาก่อน ตอนที่เขาเริ่มตั้งกิจการเขามาอย่างชอบธรรม ต่อมาเมืองขยายไปแล้วกลายเป็นเขาไม่ชอบธรรมก็ไม่ใช่ความผิดของเขา ก็ต้องมีค่าตอบแทนให้เขาอย่างเป็นธรรม

 

ตัวอย่าง คือ ถ้ามีโรงงานผลิตวัตถุระเบิดไปตั้งห่างไกลความเจริญ ถ้าเกิดระเบิดจะได้ไม่กระทบกับชุมชนเมือง แต่ต่อมาเมืองขยายไปจนล้อมโรงงาน แน่นอนว่าโรงงานผลิตวัตถุระเบิดอยู่ต่อไปไม่ได้ อันตรายเกิน แต่ไม่ใช่ความผิดของโรงงาน จะให้เขาปรับปรุงหรือย้ายออกไป ก็ต้องหาเงินมาชดเชยเขา เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิดมาตั้งแต่แรก

ดร.พนิต  ชำแหละ  ผังเมือง กับ เหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว - สมุทรปราการ

เอากฎหมายมาวิเคราะห์กับโรงงานหมิงตี้

- โรงงานโฟม ขัดกับผังเมืองสมุทรปราการในสาระสำคัญแน่นอน เพราะพื้นที่นี้มีเป้าหมายเป็นบรรจุภัณฑ์และคลังสินค้า ไม่ใช่โรงงานโฟมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสูง

 

-โรงงานนี้อยู่มาก่อนมีผังเมืองรวมสมุทรปราการ จึงต้องใช้อำนาจของคณะกรรมการผังเมืองในการสั่งให้แก้ไข ปรับปรุง หรือระงับตามวรรคสอง

 

- แต่ก็ไม่ได้มีการสั่งให้แก้ไข ปรับปรุง หรือระงับ ไม่ใช่แค่โรงงานนี้ แต่ไม่เคยสั่งแบบนี้กับกิจการใด ๆ เลย 

 

- เหตุที่ไม่เคยสั่งให้แก้ไข ปรับปรุง หรือระงับการใช้งาน เพราะต้องชดเชยต่อเจ้าของกิจการ แต่ไม่มีการตั้งองค์กรหรือกลไกในการชดเชยเลย แล้วจะเอาเงินจากไหนมาชดเชย

 

- เงินชดเชยควรมาจากไหน ตรงไปตรงมา ก็คือจากเจ้าของที่ดินโดยรอบ ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งขัดแย้งกับโรงงานที่เขาเคยอยู่อย่างถูกกฎหมายมาก่อน การพัฒนาใหม่ไปทำให้เขากลายเป็นผิด คนที่ได้ประโยชน์ก็ต้องชดเชยให้คนที่เขาเสียประโยชน์เป็นธรรมดา

 

- ถ้ากรมโยธาธิการจะขอเก็บค่าชดเชยจากเจ้าของที่ดินโดยรอบ ที่ได้เปลี่ยนจากไร่นา มาเป็นชุมชน เป็นโรงงานบรรจุภัณฑ์และคลังสินค้า เพื่อชดเชยให้กับโรงงานโฟมที่อยู่มาก่อน คุณว่าเจ้าของที่ดินโดยรอบจะยอมไหมล่ะ

 

สรุปความตรงไปตรงมาว่า

มีกฎหมายผังเมืองที่จะสั่งระงับหรือแก้ไขกิจการที่อยู่มาก่อน แต่ปัจจุบันเป็นอันตรายต่อพื้นที่โดยรอบได้ แต่ไม่มีใครใช้ เพราะไม่มีคนที่ได้ประโยชน์ยอมจ่ายค่าชดเชย รัฐเองก็ไม่กล้ามาเรียกเก็บจากคนได้ประโยชน์เพราะไม่อยากจะโดนด่า พอมีปัญหาขึ้นมาก็โทษผังเมืองว่าไม่ทำตามกฎหมาย

คุณนักผังเมืองไปต่อสู้ปกป้องโลก บอกว่าเป็นหน้าที่ มีดาบให้นะ (คือกฎหมายผังเมือง) แต่มันเป็นดาบไม้สำหรับเล่นลิเก มันไม่ใช่ดาบเหล็กน้ำพี้เพื่อปกป้องโลกได้ พอแพ้เขากลับมา ก็บอกว่าผังเมืองห่วย แต่ไม่เคยย้อนไปดูว่า คุณให้อาวุธที่สมบูรณ์กับเราหรือเปล่า