ล็อกดาวน์ร้านอาหาร​ ทนายแนะฟ้องเรียกค่าเสียหาย บิ๊กตู่-ศบค.

28 มิ.ย. 2564 | 10:30 น.

นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิฯ ชงผู้ประกอบการ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย “บิ๊กตู่-ศบค.-คลัง” สั่ง “ล็อกดาวน์ร้านอาหาร” ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ไร้เยียวยา

การยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 แบบเข้มข้น ทั้งการล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง และล็อกดาวน์ร้านอาหาร ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้านเท่านั้นในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. นครปฐม 3. นนทบุรี 4. นราธิวาส 5. ปทุมธานี 6. ปัตตานี 7. ยะลา 8. สงขลา 9. สมุทรปราการ และ 10. จังหวัดสมุทรสาคร  

โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้แพร่ออกเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่นๆ อย่างรวดเร็ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งร้านอาหารที่มีสาขา ร้านสตรีทฟู้ด ยันร้านหาบเร่ แผงลอย

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการประกาศยกระดับในครั้งนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีการเกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉินด้านการควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง​ รัฐมีหน้าที่ควบคุมและออกกฎหรือคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามอำนาจหน้าที่​ได้​

แต่การออกมาตรการใดๆที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง​รัฐต้องมีมาตรการเยียวยารองรับที่สมเหตุสมผลและทันต่อเหตุการณ์และชัดเจนตามคำสั่งที่ออกมา​ หากรัฐละเลยไม่มีการเยียวยาหรือไม่กำหนดมาตรการเยียวยาใดๆที่เกิดจากภัยโควิด​ ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจในการออกกฎหรือคำสั่งดังกล่าว​

ทั้งนี้หากผู้ประกอบการหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐจึงสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ "นายกรัฐมนตรี" ในฐานะผู้อำนวยการศบค.และกรรมการศบค.ที่ออกคำสั่งโดยไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบ​รวมทั้งฟ้องกระทรวงการคลัง ให้กำหนดมาตรการเยียวยาและจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้

“การมีคำสั่งห้ามจำหน่ายอาหารในร้านค้าแต่อนุญาตให้ซื้อไปทานที่บ้านได้ตามมาตรการคุมเข้มในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด​ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน​ แต่การใช้อำนาจนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้าที่ถูกคำสั่งโดยตรงจากสถานการณ์ภัยโควิดซึ่งรัฐต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประสบภัยดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้ประสบภัยด้านอื่นๆ​

เมื่อรัฐไม่เยียวยาผลกระทบจากการออกคำสั่งดังกล่าว​ ย่อมถือเป็นความรับผิดอย่างอื่นที่รัฐต้องจ่ายค่าเยียวยาให้ประชาชน​  เช่นเดียวกับกรณีที่รัฐสั่งปิดโรงงานและรัฐต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตรา50% ดังที่กฎหมายแรงงานกำหนด”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :