ล็อกดาวน์กรุงเทพ "ร้านอาหาร" เจ๊งระนาว

26 มิ.ย. 2564 | 09:30 น.

"ร้านอาหาร" หวั่นล็อกดาวน์กรุงเทพ กระทบหนัก เจ๊งระนาว ชี้รัฐไร้แผนรองรับ ปล่อยระบาดหนัก ย้ำปิดร้านก็ไม่ทำให้เตียงว่าง  

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และเจ้าของร้าน Steve Café & Cuisine  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากศบค. สั่งล็อกดาวน์ กรุงเทพฯ จริง ควรจะล็อกดาวน์ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะร้านอาหารหรือแคมป์คนงานก่อสร้างเท่านั้น เพราะทุกจุดเป็นแหล่งแพร่ระบาดได้ทั้งนั้น ทั้งห้างหรือตลาดสด

ไม่ใช่จะอ้างว่า ร้านอาหารมีการปาร์ตี้ ทำให้เกิดการระบาด โอกาสสุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งอาจะมีสัดส่วนเพียงแค่ 10% เท่านั้น แต่ร้านอาหารอีก 90% เป็นร้านที่มีระบบการบริหารจัดการดี มีการเฝ้าระวังแบบเข้มข้น และได้รับมาตรการ SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration  โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแล้ว

“หากล็อกดาวน์ 14-15 วันแล้วไม่จบ จะทำอย่างไร การล็อกดาวน์ควรทำแบบรอบด้านทั้งร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ทุกอย่าง เพราะการปิดร้านอาหารอย่างเดียว ก็ไม่ทำให้เตียงในโรงพยาบาลว่างลง แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของสาธารณสุขมากกว่า”

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีการเตรียมแผนรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ใดๆ ทั้งการตรวจเชิงรุกที่ควรทำตั้งแต่ปีก่อน รวมทั้งแผนการจัดหาและฉีดวัคซีน หากจะล็อกดาวน์ กรุงเทพฯ ห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหาร ให้เฉพาะซื้อกลับบ้านหรือดีลิเวอรีเท่านั้น เชื่อว่าจะมีร้านอาหารเจ๊งกันระนาว

“ศบค. ควรจะมีการประกาศให้ชัดเจน เพราะแค่มีกระแสข่าวว่าจะล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิว ผู้ประกอบการไม่มั่นใจ ผู้บริโภคก็ไม่มั่นใจ ทำให้วันศุกร์ที่ผ่านมา ร้านอาหารไม่กล้าสั่งสต็อกวัตถุดิบเพราะเกรงว่าจะถูกสั่งล็อกดาวน์ห้ามขาย ของสดก็จะไม่สด ทำให้ร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านขายหมูสด อาหารทะเล ต่างขายของกันไม่ได้ ได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่ต่อๆ กัน”

ร้านอาหาร

รัฐบาลไม่แก้ปัญหาแบบ 360 องศา ทำลายระบบเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้ประกอบการขาดความมั่นใจ การล็อกดาวน์ไม่เคยมีแผนรองรับ การฉีดวัคซีนก็ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ดี นอกจากการล็อกดาวน์ กรุงเทพฯแล้ว การกระจายและฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในธุรกิจร้านอาหารเอง ต้องการให้สธ. ดูแลและจัดสรรการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานก่อนเพราะถือเป็นด่านหน้าที่ต้องเจอกับผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น ควรจะรวมถึงแรงงานต่างชาติ

เพราะในธุรกิจร้านอาหารเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีแรงงานรวมกว่า 8 แสนคน ซึ่งราว 5-6 หมื่นคนเป็นแรงงานต่างชาติ และหลักการควบคุมการระบาดวิทยาก็ต้องไม่มีการแย่งแยกการรักษาหรือการฉีดวัคซีน ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีน แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ

“การจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ ไม่ใช่เฉพาะควบคุมคนไทย แต่ต่างชาติก็ต้องควบคุมและเฝ้าระวัง เพราะต้องยอมรับว่าแรงงานต่างชาติมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะทุกวันนี้ในหลายๆอาชีพ แรงงานไทยไม่ทำต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :